NETBAY ซุ่มทำดีล! เจรจาพันธมิตรไทย-ต่างชาติกว่า 10 ราย แย้มต้นปี 68 ผุดแพลตฟอร์มเงินกู้ “อู่ซ่อมรถ”
NETBAY เปิดแผนปี 68 เดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรต่อเนื่อง ซุ่มเจรจากับพันธมิตรไทย-ต่างชาติกว่า 10 ราย หวังต่อยอดการเติบโต จับตาต้นปี 68 ผุดบริษัทร่วมทุน ทำแพลตฟอร์มเงินกู้ “อู่ซ่อมรถ” งานนี้วางเป้าปี 68 ดันรายได้โต 10-15%
นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10 ล้านบาท ร่วมมือกับพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO, บริษัท บีบีจี เทคโนโลยี จำกัด (BBG) และบริษัท ไซเท็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SITEM) โดย NETBAY ถือหุ้นสัดส่วน 10%
ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะทำธุรกิจด้านแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้อู่ซ่อมรถยนต์เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างสถาบันการเงินกับอู่ซ่อมรถยนต์ โดยบริษัทจะมีรายได้มาจากค่าธรรมเนียมบริการ และส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงิน เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัทในช่วงต้นปี 2568 และคาดจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 2/2568
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสการเติบโตร่วมกับพันธมิตรต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ ประมาณ 10 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ เบื้องต้นความว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2568
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2568 บริษัทวางเป้าหมายจะมีรายได้เติบโต 10-15% โดยมีกลยุทธ์หลัก 5 แกน คือ 1. เติบโตจาก Recurring Base ซึ่งถือเป็น Organic growth 2. สร้างนวัตกรรมและ Product ใหม่ๆ 3. เติบโตจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ
4. เติบโตจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านโซลูชั่น 5. เติบโตจากการทำโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (In-organicgrowth)
นอกจากนี้ ยังจะมีขยายความร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทร่วมกับ TEAMG เป็นที่ปรึกษาในการสร้างเครื่องมือและแพลตฟอร์มกลางการจัดเก็บฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (เฟส 1) และจะการขยายความร่วมมือในเฟส 2 ต่อไป เช่นเดียวกับโครงการ Smart Zoo ที่จะมีการพัฒนาในเฟส 2-3
ขณะที่ปัจจุบัน เน็ตเบย์มีบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ บริษัท เคลาด์ ครีเอชั่น จำกัด และบริษัท ฟินเน็ต เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เน็ตเบย์ถือหุ้น 100% ทั้ง 2 บริษัท
ทั้งนี้ธุรกิจของเคลาด์ ครีเอชั่น เป็นผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการข้อมูล Gateway ระหว่างสถาบันการเงิน ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 และสำนักงาน ปปง. เพื่อสนับสนุนการส่งรายงานธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นหลัก
ในขณะที่ธุรกิจของ บริษัท ฟินเน็ต เวนเจอร์ส จำกัด จะเน้นให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบครบวงจรภายใต้แนวคิด “Enhance Business with Smart Compliance Solution” โดยใช้ชื่อแพลตฟอร์มว่า “Check+” ซึ่งเป็นการพัฒนา Feature ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม CDD Gateway เพื่อให้บริการกับกลุ่มสถาบันการเงิน ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 และกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีความต้องการนำ IT Compliance เข้าไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้อง
โดยในปี 2568 ฟินเน็ตจะเน้นขยายธุรกิจเพื่อให้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวไปยังผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ซึ่งได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน รวมถึงในกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเติม