รายงานพิเศษ : PSP เกาะกระแสลดโลกร้อน บุกธุรกิจรีไซเคิลหนุนรายได้ทำนิวไฮ
สถานการณ์ลดภาวะโลกร้อน และการดูแลสิ่งแวดล้อมยังเป็นปัจจัยท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้โลกได้รับการดูแลมากขึ้น แนวทางรีไซเคิลเป็นวิธีการหนึ่งในการร่วมมีส่วนในการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ บมจ.พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ (PSP)
การลดภาวะโลกร้อนโดยแนวทางการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การทำธุรกิจของ PSP “เสกสรร ครองพาณิชย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSP ระบุ บริษัทฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการรักษาดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
พร้อมกำหนดกลยุทธ์เป้าหมายและแผนการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาความยั่งยืนจะถูกบูรณาการในทุกภาคส่วนขององค์กร ตลอดจนสามารถดำเนินกิจการในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ขณะเดียวกันบริษัทฯได้ลงทุนใน บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยปัจจุบันถือหุ้น 27.78% การเข้าลงทุนในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักที่มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและความร่วมมือภายในกลุ่มบริษัท รวมถึงการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพื่อการขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Solutions) โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยบริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและเพิ่มฐานลูกค้า รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตในอนาคต ซึ่งในไตรมาส 3/67 รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท รีไซเคิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำนวน 4.71 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/67 คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าไตรมาส 3/67 เนื่องจากบริษัทฯ มีปริมาณการขายทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากมีการขยายตลาดการส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ และลูกค้าปัจจุบันมีการเพิ่มปริมาณการคำสั่งซื้อทั้งน้ำมันหล่อลื่น จาระบี น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้ามากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยบวกจากตลาดโดยรวมของผลิตภัณฑ์หล่อลื่นที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยจากการคาดการณ์ของ Kline ASEAN Market Research ตลาดผลิตภัณฑ์หล่อลื่นในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ต่อปี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยคาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% ต่อปี และการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมและยานยนต์คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.7% ต่อปี รวมถึงการใช้น้ำมันหล่อลื่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น จาระบี น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% 2.8% และ 1.0% ตามลำดับ