ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจงประเด็น EE ยังไม่เข้าข่าย Backdoor เหตุกล่าวถึงโครงการอนาคต-ยังไม่เกิดขึ้นจริง
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พูดถึง กรณีของบริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น จากมีการทำรายการบิ๊กล็อต โดย นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส ซื้อหุ้น และมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีแนวทางการขยายสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ธุรกิจ Tech) ในปัจจุบันพฤติกรรมดังกล่าวยังไม่เข้าข่าย back door เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวถึงโครงการในอนาคตและยังไม่เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงขึ้นอยู่กับการชี้เเจงของบริษัทในอนาคต
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นในเดือน พ.ย. ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และ Bitcoin ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเริ่มเห็นนักวิเคราะแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายด้านการค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น
หากทรัมป์ดำเนินนโยบายกำแพงภาษีกับจีนรุนแรงตามที่หาเสียงอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เงินลงทุนบางส่วนย้ายไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งหากการกีดกันการค้าทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงช้ากว่าคาด มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะต้องเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อาจกลับมาสูงไปอีกสักระยะ ซึ่งนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากกว่าที่คาดการณ์อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
แต่อย่างไรก็ดีหากพิจารณาช่วงทรัมป์ 1.0 ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งกว่าปัจจุบัน สังเกตจากการเติบโตของ GDP และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/67 ขยายตัว 3.0% ทำให้ GDP โดยรวม 9 เดือนแรกปี 67 ขยายตัว 2.3% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ อีกทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับเพิ่มแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไปอยู่ที่ 2.6% จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออก ท่องที่ยว และการลงทุนภาครัฐ ขณะที่บริษัทจดทะเบียนรายงานผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก ปี 2567 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากปีก่อน แต่ราคาน้ำมันและส่วนต่างค่าการกลั่นปรับลดลงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเคมีกำไรสุทธิลดลง
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 SET Index ปิดที่ 1,427.54 จุด ลดลง 2.6% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 มีเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี
ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 44,256 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากเดือนพฤศจิกายน 2566 ขณะที่ใน 11 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,045 ล้านบาท ลดลง 13.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเห็นสัญญาณเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดสองเดือนติดต่อกัน ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีแงซื้อจากกองวายุภักษ์และTESG เข้ามาช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการซื้อขายของสถาบันให้อยู่ระดับดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่อาจช่วยชดเชยเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่จะไหลออกจากตลาด
ทั้งนี้ บริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ (SNPS) และใน mai 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJ) บมจ. อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง (IROYAL)
สำหรับ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 16.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.6 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 19.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 3.34% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.10%
ทั้งนี้ ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนพฤศจิกายน 2567ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 487,638 สัญญา ลดลง 4.2% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 479,145 สัญญา ลดลง 10.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures