จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : PCE มั่นใจผลงานปีนี้โตต่อเนื่อง นโยบายขึ้นภาษีสหรัฐไม่กระทบ


13 ธันวาคม 2567

กระทรวงพาณิชย์เชื่อนโยบายเก็บภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐ ไม่กระทบการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ขณะที่ CEO บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) มั่นใจผลงานปีนี้เติบโตตามเป้าหมาย 10-15% 

รายงานพิเศษ PCE copy.jpg

โดย นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  ระบุว่า สนค. ได้ศึกษาและติดตามนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการปรับขึ้นภาษีนำเข้า แต่ยังมีบางสินค้าที่ยังคงมีความต้องการแม้การปรับภาษีอาจกระทบต้นทุนเพิ่ม

โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ไปยังสหรัฐ ยอดการส่งออกจะยังค่อนข้างคงที่ โดยเฉพาะ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กาแฟ ยางพารา ข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว  เนื่องจากสหรัฐไม่มีการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ในประเทศ และมีทางเลือกที่จำกัด

ด้าน “พรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล” รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร  มั่นใจ แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2567 ยังเติบโตแข็งแกร่ง จากดีมานด์การใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล โดยประเมินว่าในปี 2567 การบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศ และความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จะขยายตัวเฉลี่ยระดับ 6-7%

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั่วโลกในปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และด้วยพัฒนาการของไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในหลายๆด้าน โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่

1.แนวโน้มการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันจาก 6 ล้านไร่ ในปัจจุบันสู่ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2572 จากการสนับสนุนของนโยบายรัฐ

2.ปัจจุบันต้นปาล์มน้ำมันมีอายุเกิน 8 ปี ที่อยู่ในเกณฑ์อายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่ (Yield) สูง มีจำนวนมากขึ้น

3.ราคาปาล์มอยู่ในเกณฑ์ดีและจูงใจเกษตรกรให้มีแรงจูงใจเพาะปลูก และจากที่ราคายางตกต่ำเกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา

โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 3 ของโลก มียอดการผลิตในปี 2566 ทั้งหมด 3.32 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4% ของการผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลก ที่มีปริมาณรวม 77.28 ล้านตัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างประเทศอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการผลิต 57% และมาเลเซีย 26% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ผลิตรวมกันได้ 13%

"มั่นใจว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เห็นได้จากงวด 9 เดือน มีรายได้จากการขายและการให้บริการกว่า 21,747.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,051.9 ล้านบาท หรือ 16.3% และมีกำไรสุทธิ 400.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.7% และคาดว่ารายได้รวมในปีนี้จะเติบโต 10-15% ตามแผนงานที่วางไว้"

สำหรับการที่รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้รับปัจจัยหนุนจากการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) และผลิตภัณฑ์หลักมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากความต้องการของลูกค้าที่เป็น Strategic Partner และมีลูกค้าใหม่ที่ทำสัญญาระยะยาวกับบริษัทฯ ขณะที่ต้นทุนในการจัดจำหน่ายลดลง 6.4% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน และได้รับผลดีจาก Economy of Scale อีกด้วย

PCE