รัฐบาลสหรัฐฯ เบอร์ 1 ถือครอง Bitcoin มากสุดในโลก พบล่าสุดตุนของในมือกว่า 2.13 แสน BTC
นักวิเคราะห์นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ให้มุมมองว่านักลงทุนรายย่อยและสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ถือบิทคอยน์ไว้ในพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง แต่รัฐบาลทั่วโลกเองก็มีการถือครองบิทคอยน์เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือครองบิทคอยน์รายใหญ่ที่สุด โดยมีบิทคอยน์ในครอบครองมากกว่า 213,297 BTC อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินจากการจับกุมอาชญากรรม
โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ข้อมูลจาก Coingecko.com ระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกถือครองบิทคอยน์รวมกันอยู่ที่ประมาณ 2.2% ของอุปทานทั้งหมดของบิทคอยน์ ซึ่งคิดเป็นจำนวน 471,380.6 BTC โดยมีมูลค่าประมาณ 3.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังเพิ่มการถือครองบิทคอยน์ไม่ว่าจะเป็นจากการยึดหรืออายัด บิทคอยน์จากกิจกรรมทางอาชญากรรม จากการบริจาค หรือจากกิจกรรมอื่นๆ แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและการยอมรับในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในระบบการเงินโลก
สำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือครองบิทคอยน์รายใหญ่ที่สุด โดยถือครอง 213,297 BTC ซึ่งได้มาจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน โดยมูลค่าของบิทคอยน์ ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาครอบครองในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ บิทคอยน์ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการปิดตัวลงของเว็บไซต์ Silk Road ตลาดซื้อขายออนไลน์ที่เป็นเครือข่าย Dark Web ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะแพลตฟอร์มแรกๆ ที่ใช้บิทคอยน์เป็นสื่อกลางในการชำระเงินสำหรับซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ผิดกฎหมาย
ถัดมาเป็นจีนที่มีการปราบปรามการซื้อขายและการขุดคริปโทเคอร์เรนซี แต่ก็มีการถือครองบิทคอยน์จำนวนมาก โดยได้มาจากการจับกุมและยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ทำให้รัฐบาลจีนถือครองบิทคอยน์เป็นอันดับสองรองจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
โดย จากข้อมูลล่าสุด พบว่ารัฐบาลจีนถือครองบิทคอยน์ประมาณ 190,000 BTC มูลค่าประมาณ 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ บิทคอยน์ ส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจีนถือครองนั้นถูกยึดมาจากคดี PlusToken ซึ่งเป็นหนึ่งในกลโกงสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ PlusToken คือแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme)
ต่อมาสหราชอาณาจักรเป็นรัฐบาลที่มีการถือครองบิทคอยน์สูงสุดเป็นอันดับสาม จากการจับกุมและสามารถยึดอายัด บิทคอยน์ได้ประมาณ 61,000 BTC มูลค่าประมาณ 4.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งพบ Wallet ที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนมากโดยชาวต่างชาติ จากการแปลงคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินสดหรือทรัพย์สิน จากการจับกุมอาชญากรรมดังกล่าวแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการจัดการกับอาชญากรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรน
ต่อมาเป็นเอลซัลวาดอร์มีความโดดเด่นเนื่องจากเป็นประเทศแรกที่บิทคอยน์ สามารถใช้ชำระหนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังมีนโยบายในการซื้อ Bitcoin อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ “1 บิทคอยน์ ต่อวัน” โดยทยอยซื้อ 1 BTC ต่อวัน
โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าตลาด เพื่อเก็บเป็นทรัพย์สินของประเทศและเพื่อสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์แนวทางเชิงรุกนี้ทำให้เอลซัลวาดอร์อยู่ในระดับแนวหน้าของการนำ Bitcoin มาใช้ในระดับประเทศ จึงส่งผลให้มีการครอบครองอยู่ที่ 5,800 BTC คิดเป็นมูลค่าประมาณ 0.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในทางกลับกัน ยูเครนได้รับบิทคอยน์ ส่วนใหญ่ผ่านการบริจาคเพื่อช่วยเหลือในสงครามกับรัสเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รัฐบาลได้มีการโพสต์ Wallet address ไว้ที่แพลตฟอร์ม “X” เพื่อขอรับบริจาคการสนับสนุน จนถึงปัจจุบัน Wallet address ดังกล่าวได้รับ Bitcoin จำนวน 651.3 BTC (มูลค่าประมาณ 45.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
นอกจากนี้ มูลนิธิ "Come Back Alive" ในยูเครนยังได้จัดตั้ง Wallet ที่ใช้สำหรับการรับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนกองทัพ มูลนิธินี้ได้รับบริจาคบิทคอยน์ ทั้งหมด 685.1 BTC (มูลค่าประมาณ 47.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่าบิทคอยน์ที่ยูเครนได้รับการบริจาคเหล่านี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,336.4 BTC แต่ยอดคงเหลือในปัจจุบันอยู่ที่ 186.18 BTC (หรือมูลค่าประมาณ 12.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากถูกใช้เป็นเงินทุนอย่างต่อเนื่องในการทำสงครามปกป้องประเทศ
สถดท้าย เยอรมนีได้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเชิงรุก ซึ่งนำไปสู่การยึดหรืออายัดบิทคอยน์ จำนวน 46,359 BTC มูลค่าประมาณ 3.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การยึดบิทคอยน์ครั้งนี้เป็นผลมาจากการดำเนินการทางกฎหมายกับเว็บไซต์ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์เมื่อปี 2013 ซึ่งรายได้จากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้มักถูกแปลงเป็นบิทคอยน์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลของรัฐบาลเยอรมนี
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีของรัฐบาลที่มีสัดส่วนการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี่จำนวนมาก สามารถก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาตลาดของคริปโทเคอร์เรนซี่ได้ จากกรณีศึกษาล่าสุดคือ กรณีที่รัฐบาลเยอรมันจำหน่ายบิทคอยน์ ทั้งหมดที่ถือครองอยู่เป็นจำนวน 46,359 BTC ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน ถึง 12 กรกฎาคม 2024 จากการขายบิทคอยน์ออกดังกล่าว ส่งผลทำให้ราคาตลาดของ Bitcoin ปรับตัวลดลง 15.7% จาก 64,547.32 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียง 54,418.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการเติบโตของคริปโทเคอร์เรนซีทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เพื่อแก้ปัญหากลโกงสินทรัพย์ดิจิทัลและพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ในขณะเดียวกันบางประเทศยังใช้โอกาสนี้ลงทุนใน Bitcoin เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการกระจายเงินสำรองของประเทศและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการเงินยุคดิจิทัล ทั้งการยึดอายัดสินทรัพย์ดิจิทัลไปจนถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจและอนาคตของระบบการเงินโลก
อย่างไรก็ตาม การถือครองบิทคอยน์โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกสะท้อนถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัลในระบบการเงินยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการยึดอายัดสินทรัพย์ดิจิทัลจากการจับกุมอาชญากรรม การสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะทุนสำรองของประเทศ นักลงทุนจึงควรติดตามธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของรัฐบาลประเทศต่างๆ เนื่องจากการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การขายหรือการสะสมบิทคอยน์ในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาตลาดและก่อให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น