รายงานพิเศษ : TPS รับประโยชน์หนุนธุรกิจแกร่ง เมื่อรัฐบาลเตรียมดัน“ไทย” เป็นศูนย์กลางบล็อกเชนระดับโลก
“เทคโนโลยี” เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านรัฐบาลสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีบล็อกเชนระดับโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งผลดีต่อการเติบโตธุรกิจ บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) ผู้บริหารมั่นใจผลงาน Q4/67 สดใส รายได้โตตามเป้า
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี บล็อกเชน ระดับโลก ด้วยศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ที่จะดึงดูดนักลงทุน นักพัฒนา และผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้มาลงทุนและ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
ทั้งนี้เทคโนโลยี บล็อกเชน เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่จะปฏิวัติวงการการเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การจัดเก็บข้อมูลประชาชน การออกใบอนุญาต การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การสาธารณสุข เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยยกระดับเทคโนโลยีเทียบเท่าระดับสากลแล้ว ก็จะสามารถดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ และ Digital Nomad จากหลายหลายวงการ เข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เนื่องจากเหล่าผู้ประกอบการบุคลากร และ Digital Nomad เหล่านี้จะนำเงินทุน ความรู้ และทักษะใหม่ๆ เข้ามาสู่ประเทศ และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นอีกด้วย
กระแสการเติบโตของเทคโนโลยีบล็อกเชน สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) เป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดย “บุญสม กิจเกษตรสถาพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประเมินแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4/2567 ยังมีทิศทางที่สดใส ทำให้มั่นใจว่า รายได้ในปีนี้จะเติบโตต่อเนื่อง จากปีก่อนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งปัจจุบันมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 1,931.50 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า
รวมทั้ง TPS และ บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะงานภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ ที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากภาครัฐ 41% และภาคเอกชน 59%
ขณะที่ ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) ของบริษัท เอ็กซ์ ซีเคียว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ให้คำปรึกษา และการออกระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์, จัดหาบริการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามไซเบอร์ (CSOC: Cyber Security Operation Center & CSIRT : Cyber Security Incident Response Team) ที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นนำที่ทันสมัย สามารถรับรู้รายได้อย่างสม่ำเสมอ จากกลุ่มลูกค้าเดิม และมีการขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มเติม
"ในไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ ยังเชื่อว่า จะสร้างผลงานได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 74.67 ล้านบาท โดยธุรกิจการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย ธุรกิจวิศวกรรมโยธาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและโทรคมนาคมในส่วนของบริษัทย่อย สามารถรับรู้รายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับ Backlog ที่มีอยู่ นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้การส่งเสริมให้ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีบล็อกเชนระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจของบริษัทฯ" นายบุญสม กล่าว