หุ้นโลจิสติกส์น่าจับตา! สำหรับ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ อย่างครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก (End - to - End Global Logistics Services) และให้บริการสนับสนุนการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร (Integrated Logistics Services)
ล่าสุดผลประกอบการไตรมาส 3/67 มีรายได้รวม 513.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 และเพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 เนื่องจากอัตราคาระวางทางเรือที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้สาเหตุมาจาก ภาวะสงครามในทะเลแดง และปริมาณการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2567 เพื่อส่งสินค้าไปขายในช่วงเทศกาลปลายปี ทำให้มีความต้องการพื้นที่บนเรือและตู้สินค้ามากขึ้น จึงทำให้อัตราค่าระวางในช่วงไตรมาส 3/2567 ยังอยู่ในระดับที่สูง
หากแยกรายละเอียดสัดส่วนรายได้ พบว่า งวด 9 เดือนปี 2567 ธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือมีสัดส่วนรายได้ 77% ของรายได้รวม ส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ (Air Freight) สัดส่วนรายได้ 5% ของรายได้รวม
ขณะที่ธุรกิจการบริการด้านบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร (Integrated Logistics Services) ซึ่งประกอบด้วย การขนส่งภายในประเทศ การบริการดำเนินพิธีการศุลกากร และบริการเสริมอื่นๆ มีสัดส่วนรายได้ 16% ของรายได้รวม
และธุรกิจให้เช่าพื้นที่เก็บของขนาดเล็ก และธุรกิจรับฝากตู้สินค้า (Self-Storage and Container Depot Service) ที่ประกอบด้วย บริการให้เช่าพื้นที่เพื่อจัดเก็บสิ่งของตามความต้องการของลูกค้า การบริการพื้นที่รับฝาก และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ โดยการบริการในธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้ 2% ของรายได้รวม
ถ้ามองไปยังภาพรวมไตรมาส 4/2567 นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO ประเมินว่า มีทิศทางที่สดใส และคาดว่าจะเป็นผลประกอบการที่ดีที่สุดจากทุกๆ ไตรมาสในปี 2567 โดยเฉพาะธุรกิจ Non-freight และ Non-Logistics จะมาช่วยสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดจะมีสัดส่วนของรายได้มาเป็น 30-35% จากยอดรวมของบริษัทฯ ใน 1-2 ปีข้างหน้า
ในไตรมาสนี้มีการเติบโตของรายได้และกำไรขั้นต้นจากการรับรู้รายได้ของหน่วยธุรกิจใหม่ๆ เช่น รายได้จากการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนของบริษัท LEO Sourcing and Supply Chain รายได้จากการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากบริษัท LaneXang Express และ Sritrang LEO Multimodal Logistics
รวมถึงรายได้จาก LEO Self-Storage โดยรายได้ของธุรกิจ Self-Storage มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 3/2567 มีการเติบโตถึง 98% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2566 และเมื่อเปรียบเทียบ 9 เดือนปี 2567 กับ 9 เดือนปี 2566 เพิ่มขึ้น 68%
จากที่กล่าวมานั้น ธุรกิจใหม่ๆเหล่านี้ บริษัทมองว่า จะทำให้เกิดรายได้ใหม่ๆ อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท ในการเพิ่มรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
บริษัทมองว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้มีการเซ็นสัญญาขายทุเรียนสด จำนวน 500 ตู้ 40 Reefer คอนเทนเนอร์ให้กับลูกค้ารายหนึ่งจากนครคุนหมิง โดยเป็นลูกค้าที่ได้รับการแนะนำจากกรมพาณิชย์ของนครคุนหมิง ทำให้บริษัทได้ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือและมีเครดิตที่ดีมาเป็นลูกค้าของทางบริษัท
ชุดแรกได้มีการส่งออกถึงนครคุนหมิงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถส่งมอบทุเรียนได้ครบจำนวน 500 ตู้ภายในฤดูกาลส่งออกทุเรียนของปี 2568 (เดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกๆปี) และจะมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2-3/68 ซึ่งบริษัทได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวจีน และมีการสั่งทุเรียนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ส่วนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทมองว่า ยังได้รับผลดีจากการอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 33-34 บาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากภายในสิ้นเดือนธันวาคมอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 34 บาท บริษัทก็จะสามารถปรับรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 3/67 ให้พลิกกลับมาเป็นกำไรในไตรมาส 4/2567 ได้เช่นกัน
ดังนั้นภาพรวมธุรกิจทั้งปียังขยายตัวอยู่ในทิศทางที่ดี ทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยที่ผ่านมาบริษัท ได้มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง และ คาดว่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของปี 2567 ของบริษัทอยู่ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับอัตราการจ่ายเงินปันผลในปี 2566 อย่างแน่นอน