Talk of The Town

กองทุนไทยหนีตายขาย CPALL-CPAXT เหตุนำบริษัทอุ้มธุรกิจลูกสาวเจ้าสัวธนินท์ ตะลึง MQDC แบกหนี้ 6 หมื่นลบ.-งบขาดทุน


18 ธันวาคม 2567

เกาะติดประเด็นใหญ่ สำหรับบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT หลังประกาศดีลจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ที่มีชื่อว่า บริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด  ถือหุ้นสัดส่วน 95% และ บริษัท เอ็มคิวดีซี ทาวน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือหุ้น 5% โดยบริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด จะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ จำกัด ในสัดส่วน 100%  (ยกเว้นหุ้น 1 หุ้น)

กองทุนไทยหนีตายขาย CPALL-CPAXT_S2T (เว็บ)_0.jpg

บริษัท แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-Use Development) ภายใต้โครงการ ชื่อ The Happitat ตั้งอยู่ ภายในโครงการ The Forestias โครงการอสังหาฯ mix-uesd ในเครือ CP Group ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา

สำหรับ The Forestias อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท แม็กโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (MQDC) โดยคุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ บุตรสาวคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท  และเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MQDC

โดย The Forestias เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับ world class ที่ใหญ่ที่มีมูลค่าโครงการสูงถึง 125,000 ล้านบาท และนับว่าเป็นประตูสู่โครงการระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก

การลงทุนครั้งนี้ของ CPAXT ทำให้นักลงทุนหลายภาคส่วนมีความกังวลอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจหลักของ CPAXT และมีความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล หรือ good governance รวมทั้งความเสี่ยงด้าน ESG เนื่องจากเป็นธุรกรรมกับบริษัทในเครือ CP Group

สำรวจงบการเงิน MQDC 

หากเข้าไปสำรวจงบการเงินของ บริษัท แม็กโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.พบว่า น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจาก ผลประกอบการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 

เห็นได้จากปี 2565 มีรายได้รวม 5,284.65 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 216.86 ล้านบาท แต่ปี 2566 แม้รายได้รวมเพิ่มเป็น 6,627.24 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิกลับปรับตัวลดลงเหลือเพียง 117.94 ล้านบาท และล่าสุดงวด 6 เดือนปี 2567 มีรายได้รวม 2,874.13 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิสูงถึง 546.31 ล้านบาท

โดยสิ้น งวด 6 เดือนปี 2567 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 77,739.46 ล้านบาท แต่มีหนี้สินความสูงถึง 60,237.29 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สินหมุนเวียน 27,273.29 ล้านบาท และ หนี้สินไม่หมุนเวียน 32,964 ล้านบาท ขณะที่ส่วนผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 17,502.17 ล้านบาท

สัดส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ประกอบด้วย ตราสารหนี้ 48,424.41 ล้านบาท เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 4,320 ล้านบาท และอื่นๆ ได้แก่ เงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาว 6,025.30 ล้านบาท

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (interest bearing debt to equity : IBD/E ratio) 3.36 เท่า ส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (debt to equity : D/E ratio) 3.44 เท่า

ขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Interest Bearing Debt to EBITDA ratio) เท่ากับ 13.53 เท่า เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2566 ที่มีอัตราส่วนดังกล่าวเท่ากับ 11.68 เท่า เนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและบุคคลที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้น ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวลดลง 

ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แสดงถึงว่าบริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสูงเมื่อเทียบกับ EBITDA ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ EBITDA ของบริษัทจะไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย

โดยบริษัทมีอัตราส่วนความสามารถในการชาระภาระผูกพัน (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) เท่ากับ 0.17 เท่า ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2566 ที่อัตราส่วนความสามารถในการชำระภาระผูกพันเท่ากับ 0.21 เท่า เนื่องมาจากบริษัทมีตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาเงินกู้ยืมระยะสั้นเพิ่มขึ้น 

ซึ่ง DSCR ที่ต่ำกว่า 1 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่ EBITDA จะไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปี

โบรกฯคอนเฟิร์ม สถาบันไทยขายหุ้น CPALL-CPAXT 

ขณะเดียวกันเสียงของนักวิเคราะห์ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันได้ว่า หุ้น CPALL และ CPAXT โดนแรงขายจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพราะความกังวล และความไม่ชัดเจนของดีลการเข้าไปลงทุนอุ้มธุรกิจในเครือของ CPAXT ซึ่งทำให้สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ต้องประชุมด่วนเพื่อหาข้อพิสูจน์ว่าดีลดังกล่าวดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. หรือไม่

โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า แรงขายของหุ้น CPALL และ CPAXT ในช่วง 2 วันทำการหลักๆแล้วมาจากนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นหลัก เนื่องด้วยหลายฝ่ายยังมีความกังวลในประเด็นที่อาจมีการทำธุรกิจที่ไม่เข้าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. หรือไม่

ดังนั้นอาจจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดพอร์ตเพื่อรอดูความชัดเจนจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ซึ่งมองว่าหากดีลดังกล่าวมีความถูกต้องตามเกณฑ์ก็คาดว่าจะทำให้มีแรงซื้อคืนได้

AIMC 

CPALL-CPAXT เป็นเหตุฉุด SET Index ดิ่งแรง 36 จุด

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา  (16 ธ.ค. ถึง 17 ธ.ค) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรวมกันกว่า 36 จุด ส่งผลให้ดัชนีหลุดระดับ 1,400 จุด ซึ่งเป็นจุดจิตวิทยาด้านการลงทุนที่สำคัญ

AIMC เรียกถกประเด็น CPAXT ด่วน

โดยจากรายงานระบุว่า นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC เตรียมประชุมสมาคมฯ ในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณา ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ CPAXT เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางลงทุนหุ้นดังกล่าวของกองทุนต่อไปให้ชัดเจนว่าจะอยู่ใน Restricted List จำกัดการทำธุรกรรมและห้ามมิให้มีการลงทุนเพิ่มหรือไม่อย่างไร