ยอดขายรถยนต์ทรุด ฉุดกำไรไตรมาส 4/67 กลุ่มยานยนต์ โบรกฯ แนะลงทุน “น้อยกว่าตลาด”
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ยอดขายรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2567 มียอดขายรวมอยู่ที่ 41,744 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน กันยายน และ ตุลาคม ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 40,000 คัน แต่ยังมีอัตราที่ลดลง 32.26% จากช่วงเดียวกัน
โดยยอดขายรถยนต์สะสม 11 เดือน (มกราคม–พฤศจิกายน) ของปี 2567 มียอดขายสะสมอยู่ที่ 518,094 คัน ลดลง 26.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับยอดขายรถยนต์ของแต่ละแบรนด์ในตลาดเวลานี้มีอัตราติดลบทุกแบรนด์จากก่อนหน้านี้ BYD ถือเป็นแบรนด์ที่มียอดขายเติบโตแบรนด์เดียวในเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตในระดับ 7% ต่อมาโดยในเดือน พฤศจิกายน มีตัวเลขลดลงราว 3% ขณะที่แบรนด์อื่น ๆ มีอัตราติดลบในระดับ 20-50% ขึ้นไป
ดังนั้น จึงให้มุมมองเป็นลบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ถูกกระทบจากอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ชะลอตัว ภาพรวมปี 2567 คาดยอดผลิตรถยนต์ของประเทศที่ 1,500,000 คัน ลดลง18% จากปีก่อนหน้า ซึ่งชะลอตัวรุนแรงสุดในรอบสามปี นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีวิกฤตแพร่ระบาด COVID-19
ด้านผลประกอบการยังคงมุมมองเป็นลบในไตรมาส 4/67 ยังมีปัจจัยลบรุมเร้าทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว, ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ, การถูกดึงอุปสงค์บริโภครถยนต์ใหม่ทั้งจากตลาด EV ที่ส่วนใหญ่นำเข้าและตลาดรถมือ2 ที่ราคาตกต่ำ จึงประมาณการกำไรปกติของกลุ่มยานยนต์ภายใต้ Coverage ปรับลดลง 18% เหลือ 3,971 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้น้ำหนักการลงทุน “น้อยกว่าตลาด” คาดผลประกอบการกลุ่มยานยนต์มีแนวโน้มชะลอตัวไปถึงกลางปี 2568เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ชะลอตัวตามอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ สำหรับการมาของ EV ในช่วง 2 ปี แรก มองเป็น disrupt ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าและค่ายรถยนต์จีนที่ตั้งฐานการผลิตในไทยมีซัพพายเออร์ของตัวเองตามมาจึงส่งคำสั่งซื้อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยไม่มาก กลยุทธ์การลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เน้นตั้งรับ