รายงานพิเศษ : ITNS รับประโยชน์ทางธุรกิจ เมื่อ “ธุรกรรมออนไลน์” ช่วงท้ายปีพุ่ง ช่วยกระตุ้นผลงาน Cyber security
ช่วงปลายปีนับเป็นไฮซีซันของการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นโอกาสในการเติบโตของภัยร้ายจากไซเบอร์ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ Cyber Security ของ
แนวโน้มภัยจากไซเบอร์มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ “พาโล อัลโต้ เน็ตเวิรกส์” ที่ระบุว่า ในช่วงปลายปีจำเป็นต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะช่วงส่งท้ายปี ธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์ และธุรกรรมการเงินจะพุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่ การค้นหาข้อเสนอที่ดีที่สุดในการช้อปปิ้ง ไปจนกระทั่งถึงการโอนเงินข้ามประเทศเพื่อส่งมอบของขวัญให้แก่กัน
ดังนั้นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวนี้ จึงเป็นโอกาสทองของเหล่าอาชญากรทางไซเบอร์ ในการหาผลประโยชน์จากผู้ซื้อของผ่านออนไลน์ที่ไม่ทันระวังตัว โดยหลอกลวงทางฟิชชิ่ง เว็บไซต์หลอกลวง และการฉ้อโกงจากการชำระเงิน
ผลกระทบนี้เห็นได้ชัดจากความสูญเสียที่ได้มีการรายงานในไทยในช่วงสามปีที่ผ่านมา (1 มี.ค. 2565 ถึง 31 ต.ค. 2567 ) คิดเป็นมูลค่า 74,800 ล้านบาท จากกรณีร้องเรียนที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ 708,141 กรณี การหลอกลวงที่พบมากที่สุด เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือบริการ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย 4.72 พันล้านบาท โดยคาดว่ากิจกรรมออนไลน์จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูช้อปปิ้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มความตระหนักด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
โดย นายปิยะ จิตต์นิมิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ กล่าวว่า "กลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น ความจำเป็นในการมีมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจึงมีความสำคัญกว่าที่เคยเป็นมา"
แม้ว่ารัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการปกป้องผู้บริโภคโดยส่งเสริมสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น จากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้ออกมา แต่การตระหนักรู้และการเตรียมความพร้อมของผู้บริโภคเอง ถือเป็นเรื่องสำคัญในการปกป้องภัยไซเบอร์ ผู้ค้าปลีกและธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อรักษาความปลอดภัยแพลตฟอร์มของตน ในขณะที่ผู้บริโภคควรระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้การช้อปออนไลน์มีความปลอดภัย
การเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ และการชำระเงินดิจิทัลได้ปฏิวัติพฤติกรรมของผู้บริโภคในไทย และได้นำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ๆ อีกด้วย ปริมาณธุรกรรมมหาศาลในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น วัน 12.12 และช่วงสิ้นปีเป็นโอกาสอันดีของเหล่าอาชญากรทางไซเบอร์
การทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาก ผู้บริโภคจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น การโจมตีด้วย APK ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์อันตรายที่กำหนดเป้าหมายไปที่แอปมือถือ และการหลอกลวงแบบ Deepfake ผู้บริโภคจำเป็นต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้งานออนไลน์ในทุกธุรกรรมที่ดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
สถานการณ์ภัยไซเบอร์ที่มีมากขึ้น เปิดโอกาสให้กับธุรกิจ บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม (ITNS) ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (Network Infrastructure), ระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านคอมพิวเตอร์ (Cyber Security), ระบบศูนย์ควบคุมข้อมูล (Data Center), ระบบการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจร (Collaboration), ระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless LAN) และ ระบบการบริหารจัดการเครือข่าย (Network Management)
โดยบริษัทยังเป็นพันธมิตรกับ Cisco ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำจากสหรัฐซึ่งปัจจุบันบริษัทได้อยู่ในระดับ Gold Certified Partner ถือเป็นระดับพันธมิตรขั้นสูงสุดของ Cisco
ซึ่ง “นายสมชาย อ่วมกระทุ่ม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ITNS เคยระบุว่า ปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้แบบ Organic Growth ที่ประมาณ 20% จากปีก่อน ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา