Wealth Sharing

“ค่าแรงขั้นต่ำ” คลายกังวล โบรกฯประเมินปรับขึ้นน้อยกว่าคาด กระทบกำไรกลุ่มรับเหมาจำกัด


24 ธันวาคม 2567

จากประเด็นบอร์ดไตรภาคีเคาะปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 2.9% เป็น 337-400 บาท มีผล 1 ม.ค. 2568 โดยยมีอัตราสูงสุดวันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดวัน ละ 337 บาท

“ค่าแรงขั้นต่ำ” คลายกังวล_WS (เว็บ)_0.jpg

ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัท หลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กรณีการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงแรงขายและคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายรัฐฯ นายจ้าง และลูกจ้าง มีมติปรับค่าแรงขั้นตํ่าปี 2568 ขึ้นเฉลี่ย 2.9% ในกรอบ 337-400 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568

โดยการปรับสูงขึ้นเฉลี่ยน้อยกว่าที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้ และจังหวัดที่มีการปรับขึ้นแรงอย่าง ภูเก็ต ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้อิงกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ส่วนความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เดิมตลาดมองการปรับขึ้นทั้งประเทศสู่ 400 บาท หรือเพิ่มขึ้น 12-15% จึงประเมินเป็นบวกต่อแรงกดดันต้นทุนน้อยกว่าคาด ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่าแรงสูง อาทิ อสังหา, รับเหมา, สถานีบริการน้ำมัน และร้านอาหาร

ขณะที่ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว เนื่องจากค่าแรงที่ปรับขึ้นเป็น 400 บาทมีผลบังคับใช้เพียงบางพื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดหลักในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับขึ้นเพียง +2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดกังวล อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามท่าทีรัฐบาลหลังจากนี้ในปี 2568 ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทในพื้นที่อื่นเพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (CK, SEAFCO, STECON) โครงการก่อสร้างในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเบื้องต้นประเมินต้นทุนค่าแรงโดยรวมที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 2% จะกระทบกำไร STECON มากสุดราว 6% และ CK และ SEAFCO ราว 2-3%

อย่างไรก็ตามผลกระทบมีโอกาสน้อยกว่าคาดการณ์เนื่องจากผู้ประกอบการรับเหมากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งนี้คงน้ำหนัก “Neutral” และ Top pick ได้แก่ CK (ซื้อ/เป้า 27.50 บาท)

สำหรับกลุ่ม Agri & Food โรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ปริมณฑลเช่นกัน เช่น AAI, ITC, และ TU โรงงานผลิตอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ขณะที่ GFPT แม้มีฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ จ.ชลบุรี แต่โรงงานผลิตทั้งหมดอยู่ จ.สมุทรปราการ ด้าน NER โรงงานผลิตอยู่ จ.บุรีรัมย์

เบื้องต้นประเมินต้นทุนค่าแรงรวมที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 2% จะกระทบกำไรบริษัทเหล่านี้ราว 1-2% อย่างไรก็ตามมองว่าผลกระทบจะถูกชดเชยบางส่วนจากการปรับราคาขายขึ้น รวมถึงบริษัทเหล่านี้มีการทยอยปรับปรุงประสิทธิภาพไลน์การผลิตและขยายระบบ automation