รายงานพิเศษ : “โปร อินไซด์” หรือ PIS ไอพีโอน้องใหม่ ขานรับธุรกิจเทคโนโลยีดาวรุ่งมาแรง ระดมทุนหวังช่วยหนุนผลประกอบการ
ปี 68 ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นธุรกิจที่เป็นดาวรุ่ง มีอนาคตที่สดใส และเป็นโอกาสในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯของ บมจ. โปร อินไซด์ (PIS)
ต้องยอมรับว่าธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังเป็นกระแสที่มาแรงในปี68 โดยจะเห็นได้จากการจัดอันดับธุรกิจดาวรุ่งของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่ง “ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ได้จัดอันดับธุรกิจ ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2568 โดยปัจจัยพื้นฐานมาจาก เศรษฐกิจในปี 2568 อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวขึ้น จาก 2.6-2.8% ต่อปี ในปี 2567 เป็น 3% ในปี 2568 โดย การท่องเที่ยวที่โดดเด่น การส่งออกที่น่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีเทรดวอร์ และ การใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้ ม.หอการค้าไทยมองว่าเป็นขาขึ้นของหลายธุรกิจ
ทั้งนี้ ม.หอการค้าใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) เป็นเครื่องมือในการทำ 10 เทรนด์ธุรกิจปี 2568 ได้แก่
1.ธุรกิจที่เกี่ยวกับเอไอ (AI) เช่น แพลตฟอร์ม แอพพลิเคชัน ระบบคลาวน์
2.เมตาเวิร์ส (metaverse) หรือโลกเสมือน สานกราฟิกต่างๆ
3.สินทรัพย์ ดิจิทัล (Digital Asset) อาทิ คริปโทเคอร์เรนซี บิตคอยน์
4.เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาทิ โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
5.สุขภาพ การกินดีอยู่ดี การแพทย์ ความสวยความงาม
ซึ่งจาก 5 อันดับแรกของธุรกิจดาวรุ่ง จะพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นธุรกิจที่มาแรงและเป็นอนาคตของโลก จึงเป็นโอกาสในการเข้าระดมทุนและนักลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าธุรกิจใน บมจ. โปร อินไซด์ (PIS) ในฐานะผู้ให้บริการออกแบบ พัฒนา ติดตั้ง และบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (ICT-Solutions)
โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจ เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.งานระบบรักษาความปลอดภัยทางกายภาพแบบครบวงจร (Physical Security Solution) อาทิ ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV Solution) ,ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถ
2.งานแอปพลิเคชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (ICT Application Solution)
3.งานบริการระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Integration Services) ครอบคลุมการบริการ จัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
นางสาวเบญญาภา เฉลิมวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PIS ระบุบริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 25.93% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai กลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินวางเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินออกหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) ให้กับงานโครงการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในงานโครงการแก่ลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ
"การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ของ PIS ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการเติบโต และเพิ่มโอกาสในการรับงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น จากฐานทุนที่มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่มีความจำเป็นต้องมีการยกระดับและพัฒนาระบบไอทีของประเทศ"
เงินระดมทุนจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการประมูลงานเพิ่มมากขึ้นเป็นมากกว่า 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เข้าประมูลงานโครงการมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่มองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรม ICT ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง ซึ่งภาครัฐลงทุนด้านเทคโนโลยีราวแสนล้านต่อปี ส่งผลให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ให้บริการด้าน ICT Solution แก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ