จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : CCET จับมือกับ DELTA 2 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ กำลังยกระดับอุตสาหกรรมของไทย


27 ธันวาคม 2567

บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) จับมือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) หวังยกระดับความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย และผลักดันนวัตกรรมระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรมอัจฉริยะ

รายงานพิเศษ CCET จับมือกับ DELTA_0.jpg

ความได้เปรียบในการทำธุรกิจ ปัจจุบันจะพิสูจน์ได้จากนวัตกรรมที่นำมาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ  ซึ่งการร่วมมือระหว่าง บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) ผู้นำด้านอุตสาหกรรม 4.0+ และเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอีเล็คโทรนิคส์ (Electronics manufacturing Services (EMS))และบมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (Delta) ผู้นำระดับโลกด้านการจัดการพลังงานและผู้ให้บริการโซลูชันสีเขียวอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย IoT  เพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันด้านระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม และยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาประสิทธิภาพ นวัตกรรม และความยั่งยืนในอุตสาหกรรม EMS

ซึ่งผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ CCET “คงสิทธิ์ โจวกิจเจริญ” ระบุ"แคล-คอมพ์ฯ และเดลต้าต่างดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 35 ปี และประสบความสำเร็จในธุรกิจของตนเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แคล-คอมพ์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการใช้ automated smart manufacturing ในทุกกระบวนการผลิต และใช้ระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการ ตามความมุ่งมั่นเพื่อการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรม EMS 

ในขณะที่เดลต้าก็ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในด้านการอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับเดลต้าในการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยสู่อีกขั้นของความสำเร็จ"

นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DELTA  รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้วางรากฐานความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับแคล-คอมพ์ฯ ผ่าน MOU ฉบับนี้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการผลิตอัจฉริยะและการพัฒนาตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0+ ในภาคอุตสาหกรรม EMS การผนวกรวมโซลูชันระบบอัตโนมัติ และ AI ที่ทันสมัยของเดลต้าเข้ากับกระบวนการผลิตของแคล-คอมพ์ฯนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิผลในสายการผลิต และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือภายใต้ MOU นี้จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองบริษัทได้ร่วมกันพัฒนา และมุ่งสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นได้"

จากความร่วมมือที่แน่นแฟ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา MOU ฉบับนี้ได้ยกระดับโครงการความสำเร็จต่าง ๆ ระหว่างเดลต้าและแคล-คอมพ์ฯ ให้เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ SCARA เทคโนโลยี DIATwin และโครงการประหยัดพลังงาน ความสำเร็จเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจน ทั้งด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติขั้นสูงอย่าง DIAEAP-IMM

โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม EMS ด้วยการผนวกจุดแข็งด้านระบบอัตโนมัติของเดลต้าเข้ากับศักยภาพการผลิตของแคล-คอมพ์ฯ ทั้งสององค์กรมุ่งมั่นที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการผลิตที่ชาญฉลาดและยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ทัดเทียมมาตรฐานและเทรนด์การผลิตระดับโลก

ความแข็งแกร่งของ CCET ยังเห็นได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ใช้สำหรับคำนวณดัชนี SET50 SET50FF SET100 SET100FF* sSET SETCLMV SETHD SETESG และ SETWB ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 (1 มกราคม-30 มิถุนายน 2568)

โดยดัชนี SET50/ SET50FF มีหลักทรัพย์เข้าใหม่ 4 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย บมจ. บ้านปู (BANPU) บมจ. แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) บมจ. คอมเซเว่น (COM7) บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD)

ดัชนี SET100/ SET100FF มีหลักทรัพย์เข้าใหม่ 4 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย บมจ. แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) บมจ. ไทย โคโคนัท (COCOCO) บมจ. จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) บมจ. โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9)