จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : SUPER ผลงานโตก้าวกระโดด รัฐบาลหนุนผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด สอดรับโอกาสขยายการลงทุน


07 มกราคม 2568

บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ตอบรับกระแส บอร์ด กพช.ขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หนุนผลงานเติบโตก้าวกระโดด

SUPER_รายงานพิเศษ S2T (เว็บ) copy_0.jpg

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  มีมติเห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม  รับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม รับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm

ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้

(1) กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย 

(2) กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (2.1) ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย (2.2) ประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม และที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ซึ่งประโยชน์จากการขยายกรอบเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ และช่วยลดการนำเข้า Spot LNG ลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าอีกด้วย

การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สนับสนุนการเติบโตของ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ซึ่ง นายจอมทรัพย์ โลจายะ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER  ย้ำนโยบายที่บริษัทฯ ยังหาโอกาสในการขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการจับมือพันธมิตร ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุน และองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน 

โดยรายได้ของSUPER มาจาก 2 ประเทศ  ซึ่งประเทศไทยยังเป็นแหล่งรายได้หลักมีสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้บริษัท  มาจากพลังงานแสงอาทิตย์  ส่วนรายได้จากประเทศเวียดนามมีสัดส่วนประมาณ 40%  และช่วงต้นปี2568 คาดว่าบริษัทจะCOD พลังงานลมในเวียดนาม 141  MW   ทำให้สัดส่วนรายได้ในเวียดนานเพิ่มขึ้นประมาณ 10%  แต่สัดส่วนรายได้จากประเทศไทย ภายใน 3 ปีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 75% และรายได้จากเวียดนามอยู่ที่ 25%  

“เราจะเน้นขยายการผลิตพลังงานในประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง  เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ที่จะเข้ามา และมีความต้องการใช้พลังงานสะอาด   ดังนั้นการเติบโตในประเทศไทยยังมีค่อนข้างมาก ส่วนในประเทศเวียดนาม เชื่อว่า แผนPDP8 จะทำให้การเติบโตของพลังงานสะอาดมีความชัดเจนมากขึ้น” นายจอมทรัพย์กล่าว