รายงานพิเศษ : SAFE ธุรกิจกำลังรับประโยชน์ เมื่อตลาดรักษาผู้มีบุตรยากในไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 6.2%
“ภาวะสังคมสูงวัย-เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง” ปัจจัยหลักกดดันการมีบุตร และกระตุ้นตลาดการรักษาผู้มีบุตรยาก กสิกรไทยคาดปี 68 ตลาดในไทยโต 6.2% ตามทิศทางตลาดโลก ผลักดันผลงาน บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป (SAFE) เติบโตต่อเนื่อง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกในปี 2568 มีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% เมื่อเทียบกับปี 2567 มูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางเติบโต นำโดยการบริการรักษาด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertility: IVF) ที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก
โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดการรักษาด้วยวิธี IVF จะเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 ไปเป็น 26% ในปี 2573 จากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้น
ส่วนตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี 2568 คาดโต 6.2% จากปี 2567 โดยมีมูลค่ากว่า 6.3 พันล้านบาท ตามความต้องการใช้บริการที่ยังเพิ่มขึ้นจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสอดคล้องไปกับเทรนด์ของโลก
ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความโดดเด่นในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากจากอัตราความสำเร็จในการมีลูก (Success Rate ) ที่สูงถึง 40-70% โดยมีผู้ให้บริการแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.กลุ่ม Treatment เช่น โรงพยาบาลรัฐและเอกชนและคลินิก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการบริการแบบครบวงจรตั้งแต่การให้คำปรึกษา การบริการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ และการแช่แข็ง/ฝากไข่ สเปิร์ม
2.กลุ่ม Testing ที่ให้บริการคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม
ทั้งนี้มูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยแบ่งเป็น การใช้บริการของชาวไทย 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ส่วนอีก 45%เป็นชาวต่างชาติ
มูลค่าตลาดชาวไทยที่มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังโตจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คู่สมรสชาวไทยนิยมมีบุตรช้าลง สะท้อนจากสัดส่วนการคลอดของสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 35% ในปี 55 คาดว่าจะขยับมาเป็น 46% ในปี 2568 รวมถึงหลายคู่ประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน เป็นต้น
แม้มูลค่าตลาดในปี 67 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าตามค่านิยมคลอดบุตรในปีมังกร แต่มูลค่าตลาดในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นได้ โดยเป็นผลมาจากการเดินทางเข้ามารับบริการของชาวต่างชาติที่ขยายตัวสูงกว่าภาพรวมตลาด โดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว ที่คาดว่าจำนวนรอบการรักษาจะเพิ่มขึ้น 5.9% และเป็นวิธีที่ชาวต่างชาตินิยม เนื่องจากอัตราความสำเร็จสูงกว่าวิธีอื่นๆ ส่วนการรักษาด้วยวิธีผสมเทียมที่อัตราความสำเร็จต่ำกว่า จำนวนรอบการรักษาน่าจะเพิ่มขึ้น 3.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับบริการของชาวไทย
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในตลาดรักษาผู้มีบุตรยาก บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป (SAFE) นับเป็นผู้ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากครบวงจรด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ รวมทั้งให้บริการห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ ที่มีความชำนาญ สะท้อนจากการวิเคราะห์ของบล.กรุงศรี ที่แนะนำ “ซื้อ”
โดยบล.กรุงศรี ระบุว่า บริษัทได้ปรับคำแนะนำ SAFE เป็น Buy (เดิม Trading Buy) คงราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 16.30 บาท ประเมินด้วยวิธี DCF WACC 9.7% คิดเป็น Imply PE ปี 68 ที่ 23.6 เท่า ขณะที่ราคาหุ้น SAFE ซื้อขาย PE ปี 68 เฉลี่ย 18 เท่า หรือเทียบเท่า Forward PE -2.0SD เรามองเป็นโอกาสลงทุนสำหรับ SAFE โดยมีความน่าสนใจ
1) ได้เปรียบในการแข่งขันจากจุดเด่นเป็นผู้นำเทคโนโลยีสำหรับให้บริการเพื่อการมีบุตร และมีทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์จากวิธี ICSI+PGT เกินกว่า 70% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 45% (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข)
2) ให้บริการเป็นเครือข่ายมี 5 สาขา ครอบคลุมจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพ 2 สาขา (อัมรินทร์ พลาซ่า, รามอินทรา), ศรีราชา, ขอนแก่น และภูเก็ต ทำให้มีโอกาสขยายลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ
3) มีตำแหน่งทางการตลาดชัดเจนจับลูกค้าพรีเมี่ยม โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานให้บริการมากกว่าแข่งขันราคา ประกอบกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มกำลังซื้อค่อนข้างสูง ทำให้มีความอ่อนไหวต่อราคาไม่มาก
4) ธุรกิจหลักอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตขาขึ้น ประกอบกับอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกและประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้หลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมการมีบุตร เพื่อลดปัญหาโครงสร้างประชากรในระยะยาว
5) คาดปี 68-69 กำไรสุทธิเติบโตต่อปี+17%CAGR มีปัจจัยผลักดันจากคาดรายได้ให้บริการเติบโตเฉลี่ย +12%CAGR ตามการให้บริการเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผลบวก Economies of scale ของจำนวนการให้บริการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรอบการเก็บไข่ (OPU Treatmentcycle) และบริหารค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพ ทำให้คาด %Gross margin และ %Net margin ดีขึ้นจาก 55.1% / 21.2% ใน ปี 67 เป็น 56.8% / 23.2% ในปี 69 ตามลำดับ รวมทั้งมีโอกาสเกิด upside จากกลยุทธ์เติบโตแบบ In-Organic