Talk of The Town

โบรกฯลุ้น KBANK- BBL อาจจ่ายปันผลได้สูงกว่าคาดไว้ พบฐานเงินทุนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง


08 มกราคม 2568
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ แนะนำ Neutral แม้ว่ากำไรดูชะลอตัว แต่มีเงินปันผลปันผลเป็นช่วย โดยคาดว่ากำไร จะทรงตัวจากปีก่อน ลดลง 20% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 4/67 และจะโต 3.6% ในปี 2567

โบรกฯ ลุ้น KBANK- BBL_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงตามฤดูกาล และ มีการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี เราจึงคาดว่ากำไรจะลดลงมากถึงประมาณ 20% จากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะสามธนาคารใหญ่ ซึ่งได้แก่ BBL, KBANK และ KTB แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน กำไรน่าจะทรงตัวจากปีก่อน ในไตรมาส 4/67 

คาดว่าสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน จากอุปสงค์ตามฤดูกาลของสินเชื่อธุรกิจ, NIM จะลดลง และค่าใช้จ่าย (credit cost) จะทรงตัวในระดับสูง โดยคาดว่า KBANK และ KTB จะมีกำไร FVTPL สูงจากการลงทุนในตราสารหนี้

ขณะที่ NIM ของหลายธนาคารลดลง โดยBBL และ TTB ส่งสัญญาณว่าต้นทุนเงินฝากเริ่มจะลดลงเพราะเงินฝากที่มีต้นทุนสูงทยอยครบกำหนด และ ถูกแทนที่ด้วยเงินฝากที่มีต้นทุนลดลง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนเงินฝากให้ลดลงได้ และ เกือบจะสามารถชดเชย yield ที่ถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 

ทั้งนี้คาดว่า NIM ของ BBL และ TTB จะลดลงประมาณ 5bps จากไตรมาสก่อน ในขณะที่คาดว่า NIM ของ KKP จะลดลงอย่างมากเนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อ yield ต่ำเพิ่มขึ้น

ด้านสินเชื่อน่าจะโตต่ำกว่าเป้า ในขณะที่ credit cost น่าจะสูงกว่าเป้าหมายที่แบงก์คาดการณ์ ถึงแม้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะยังขยายสินเชื่อได้จากไตรมาสก่อน ในไตรตมาส 4/67 แต่แนวโน้มปี 2567 ยังซบเซา และ สินเชื่อน่าจะแทบไม่โตเลยเพราะธนาคารต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์การปล่อยกู้แบบระมัดระวังมาตั้งแต่ครึ่งแรกปี 67 

เราใช้สมมติฐานว่าสินเชื่อในไตรมาส 4/67 จะขยายตัว 1-1.5% จากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าสินเชื่อเต็มปีของ BBL จะทรงตัว, ของ SCB, KTB KBANK และ TTB จะลดลง 7%, ของ KKP จะลดลง 6% และ ของ TISCO จะลดลง 3% สะท้อนถึงสินเชื่อ H/P ที่ลดลงอย่างมากตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ตกฮวบ ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับนี้ต่ำกว่าเป้าเต็มปีของธนาคารที่ 3-5% แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราคาดว่า credit cost จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 4/67 เพราะธนาคารต่าง ๆ ตั้งใจจะบริหารจัดการกำไร โดยเราคาดว่า KBANK, KTB, SCB, TTB และ TISCO จะเพิ่ม credit cost แต่ BBL จะคงไว้ที่ระดับสูง

อย่างไรก็ตาม เงินปันผลจะช่วยจำกัด downside ซึ่งนอกจากแรงกดดันทางด้านของ NIM และ credit cost แล้ว เราคิดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะได้อานิสงส์จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงอย่างมาก ซึ่งจะช่วยหนุนกำไร FVTPL

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายธนาคาร เราพบว่าฐานเงินทุนของ KBANK, KTB และ SCB เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถสร้างสมดุลของกำไรได้ดีขึ้น เราชอบ BBL มากกว่าเพื่อนเพราะ credit cost ไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงจะเป็นธีมหลักของ SCB, TTB และ TISCO ส่วนในกรณีของ KBANK และ BBL อาจจะจ่ายปันผลมากกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า แม้เราคาดการเติบโตของกำไรจะจำกัดมากขึ้นตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผลดำเนินงานยังสามารถโตได้จากการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานและการทยอยลดการตั้งสำรองลง อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นในเรื่องของเงินปันผล เราจึงคงคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารที่ "เท่ากับตลาด" โดยหุ้น Top Pick เราแนะนำ KBANK ประเมินราคาเป้าหมาย 175 และ SCB ประเมินราคาเป้าหมายที่ 130 บาท

โดย KBANK คาดการตั้งสำรองจะเริ่มผ่อนคลายลงต่อเนื่องจนถึงปี 68 และเป็นธนาคารเดียวที่ได้อานิสงค์บวกจากการปรับใช้ TFRS17 ในธุรกิจประกันชีวิต (KBANK ถือหุ้นใน MTL 51%) และคาดให้ปันผลครึ่งหลังปี 67 หุ้นละ 5.6 บาท คิดเป็น Div. Yield 3.6%

ขณะที่ SCBคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 เเข็งเเรงกว่าธนาคารอื่น และคาดให้ปันผลครึ่งหลังปี 67 หุ้นละ 7 บาท คิดเป็น Div. Yield 5.9%