ทำความรู้จัก “โปร อินไซด์” หรือ PIS หนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีอัจฉริยะ เข้าตลาดหุ้นเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต
“โปร อินไซด์” หรือ PIS หนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีอัจฉริยะที่นำเสนอโซลูชั่นไอทีที่มีคุณภาพ ด้วยทีมงานมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ ที่ ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เพื่อต่อยอดสร้างโอกาสการเติบโต
บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIS เป็นอีกหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจด้าน ICT-Solutions ที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยพื้นฐานของธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต
และในฐานะเป็นบริษัทลูกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในด้านของแผนงาน และโอกาสการเติบอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง “โปร อินไซด์” หรือ PIS ยังมีเป้าหมายแผนงานที่ชัดเจนจากการระดมทุนเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต รวมไปถึงการได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจมาตลาดในช่วงที่ผ่านมา เรื่องราวทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างไร Share2Trade จะพาไปหาคำตอบ
โดย บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIS ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา วางแผน ออกแบบพัฒนา และติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทางภายภาพและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบครบวงจร (ICT-Solutions) รวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้อง
บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIS เดิมชื่อบริษัท เรย์ เทล จำกัด (RAYTEL) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 โดยนายสยาม เตียวตรานนท์ นายพิมาน เตียวตรานนท์ และนายปิยะ จิราภาพงศา ต่อมาในปี 2562 บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท และได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตในธุรกิจจึงมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะธุรกิจของบริษัท
โดย PIS มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ครอบคลุมการบริการให้การปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง ดูแลบำรุงรักษาระบบงาน จัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (ICT Solutions หรือ ไอซีที โซลูชั่น) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบงาน (Module) ภายในองค์กร
ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งอุปกรณ์ (Hardware) และ ซอฟต์แวร์ (Software) เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ รวมเป็นลักษณะงานออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบเบ็ดเสร็จ (Application Solution)
นอกจากนี้ PIS ยังมุ่งเน้นให้บริการวางแผน ออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทางกายภาพแบบครบวงจร (Physical Security Solution) เช่น ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV Solution) ระบบควบคุมการเข้าออกสถานที่ (Access Control Solution) และระบบอ่านป้ายทะเบียนรถ (License Plate Recognition Solution)
ตลอดระยะเวลาที่ PIS มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้งานไอซีที โซลูชั่นของบริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่งผลให้ PIS ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้พัฒนาโครงการที่มีความซับซ้อนในการดำเนินงาน (Complexity Project) ในขณะที่ลูกค้าต้องการใช้ความสามารถทางด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่หลากหลายและบูรณาการโดยมีการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานและการบริหารจัดการภายในองค์กร
ขณะเดียวกัน PIS ได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและผลิตภัณฑ์กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชั้นนำระดับโลก เช่น Dahua Hikvision และ Huawei นอกจากนี้ PIS ยังเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Vmware และ Fortinet
รวมถึง PIS มีทีมวิศวกรและบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมระดับสากลและได้รับใบประกาศนียบัตร จากเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก สามารถดำเนินงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ พัฒนา วางและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความซับซ้อนได้อย่างครบวงจร เพื่อการบริการที่มีคุณภาพ สร้างความพึงพอใจสูงสุดและตรงตามความต้องการของลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ PIS พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งก็คือ บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งผลประกอบการย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายได้เติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด
ส่วนผลประกอบการของ PIS ในปี 2564 – 2566 และงวด 9 เดือนปี 2567 โดยปี 2564 มีรายได้จากการขายและให้บริการเท่ากับ 674.61ล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 642.61 ล้านบาท ปี 2566 อยู่ที่ 1,075.18 ล้านบาท และ9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 988.97 ล้านบาท เติบโต 20.38% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ในปี2564 - 2566 และงวด 9 เดือนปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ87.52 ล้านบาท 18.68 ล้านบาท 104.03 ล้านบาท และ 67.88 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับข้อมูลการระดมทุนนั้น PIS จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 25.93% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลังไอพีโอ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai กลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ
ล่าสุด PIS กำหนดราคาไอพีโอ 3 บาท/หุ้น เปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 9-10 และ 13 มกราคม 2568 นี้ และได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด
นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 11 – 12 มกราคม 2568 สามารถจองซื้อผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH) ในวันที่ 20 มกราคม 2568
ขณะที่ดร.วรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PIS กล่าวย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า การกำหนดราคา IPO ของ PIS ในครั้งนี้ ถือเป็นระดับราคาเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ
รวมถึงโอกาสการเติบโตสูงจากการเข้าประมูลงานโครงการไอทีของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีการเปิดประมูลต่อเนื่องทุกปี เพื่อยกระดับประเทศ ทำให้คนไทยอยู่ดีมีความสุข
ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต สอดคล้องนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยผลักดันแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน
ขณะที่นางสาวเบญญาภา เฉลิมวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PIS กล่าวว่า ภายหลังการระดมทุน บริษัทฯมีแผนนำเงินไปวางเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน เพื่อใช้ในการขอออกหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) ให้กับงานโครงการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในงานโครงการแก่ลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมั่นใจว่า PIS จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม