ช่วงนี้ร้อนแรงอย่างมาก เพราะบริษัทจดทะเบียนต่างมีข่าวร้อนออกมาให้นักลงทุนต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆ ข่าวร้อนๆ ที่ออกมา เป็นเหตุให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
เริ่มกันที่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM เรื่องเกิดตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2567 ที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะการทำธุรกรรมการเงินของผู้บริหารบางราย ที่นำหุ้นไปวางค้ำประกันไว้ และจ่ายหนี้คืนไม่ทันจึงทำให้ต้องโดนบังคับขาย หรือ Force Sell จนทำให้ล่าสุดเหลือสัดส่วนการถือหุ้นที่น้อยมาก
ทำให้นาย สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ เหลือการถือหุ้น จำนวน 34,922,900 หุ้น คิดเป็น 5.774% ส่วนนายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร เหลือสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 85,675,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 14.16%
ต่อมาอีกหนึ่งบริษัทที่ต้องพูดถึง คงหนีไม่พ้น บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV นับตั้งแต่เข้าตลาดหุ้น ราคาหุ้นเหนือจองแค่วันแรกที่เข้าซื้อขาย หลังจากนั้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับผลประกอบการที่ออกมาไม่สู้ดีนักจนน่าใจหาย ขณะที่แผนการใช้เงิน IPO ก็เงียบเช่นกัน ส่วนแผนการขยายลงทุนซื้อกิจการไม่เกิดผลสำเร็จ เพราะการเพิ่มทุนล่ม ซึ่งที่น่าตกใจ คือ เจ้าของบริษัทยังไม่มีการใช้สิทธิเพิ่มทุนอีกด้วย
อีกทั้ง กรรมการตรวจสอบทยอยลาออกทั้งคณะ ล่าสุดผู้ถือหุ้นกู้ ไม่อนุมัติเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ ทำให้ CV ต้องหาเงินมาจ่ายในวันที่ 21 ม.ค. นี้ ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามกันออย่างใกล้ชิดว่า บริษัทจะหาแหล่งเงินจากไหนเข้ามาเสริมสภาพคล่อง แต่ที่แน่ๆ ผลประกอบการติดลบไปเรียบร้อย
ขณะที่อีกบริษัทที่เซอร์ไพรส์พอสมควร คือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เนื่องจากกรรมการบริษัท จำนวน 4 ท่าน มีภารกิจอื่น จึงขอลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท เป็นเหตุให้ราคาหุ้นในวันนั้น ลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี แต่ล่าสุดมีการแต่ตั้งกรรมการชุดใหม่เข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สุดท้ายแบบสดๆ ร้อนๆ อย่างบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 3 ฟลอร์ ติดต่อกันทำให้หุ้นบริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
สำหรับ RS มีกระแสข่าว ผู้บริหารของบริษัทมีการขายหลักหลักทรัพย์ตามเงื่อนไข (Forced sell) โดยบริษัทออกมาชี้แจงแล้วว่า ผู้บริหารถูก Forced sell พร้อมมองหามาตรการป้องกัน ยันไม่เกี่ยวกับสถานะการเงินบริษัท
อย่างไรก็ตามายงานหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเดือน พฤศจิกายน 2567 พบว่า RS มีจำนวน 222,101,798 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.18% ต่อ จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้น
ที่น่าสนใจ คือ ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า RS มีความเสี่ยงทางด้านฐานะทางการเงินจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายในเดือน ก.ย.2568 จำนวน 502 ล้านบาท ในขณะที่ RS มีเงินสด ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/67 ที่ 306 ล้านบาท และมีความเสี่ยงราคาหุ้นได้รับผลกระทบจากการ Force Sell ของหุ้นที่ถูกใช้วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ต้องจับตากันต่อไปว่า ความจริง และแนวทางการแก้ไขของแต่ละบริษัท จะออกมาในทิศทางไหน แต่ที่แน่ ๆ นักลงทุนรายย่อย คือผู้ที่รับเคราะห์ เพราะหนีไม่พ้นจากราคาหุ้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว