กระดานข่าว

กสิกรไทยคาดศก.ไทยปีนี้โตเพียง2.4% ส่งออก-ท่องเที่ยวแผ่ว-สงครามการค้าเริ่มส่งผล


10 มกราคม 2568
กสิกรไทย.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โตชะลอเหลือ 2.4% ผลจากแรงหนุนส่งออก-ท่องเที่ยวแผ่ว สงครามการค้าเริ่มส่งผล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โตเพียง 2.4% ต่ำกว่าปี67 ที่ขยายตัว 2.6 ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว  โดยแรงส่งจากท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลงหลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคน ในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง

การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัด ๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP
          
การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567
          
การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ราว 1.75% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง

หนี้ครัวเรือนชะลอตัว สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตช้า-โตต่ำต่อเนื่อง 4 ปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2568 คาดว่า อัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน อาจชะลอลงต่อเนื่อง และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 85.0-87.5% ในปี 2568 ซึ่งแม้จะต่ำลงจากกรอบประมาณการสำหรับปี 2567 ที่ 88.5-89.5% แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80.0% ต่อ GDP ตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)