ฉายมุมมอง “โลจิสติกส์” ไทยปี 68 เติบโตท่ามกลางความผันผวน รับแรงกดดัน ศก.โลกชะลอ-สงครามการค้า
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ให้มุมมองต่อธุรกิจโลจิสติกส์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น
โดยในปี 2567 รายได้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีแนวโน้มขยายตัว 5.1% จากปีก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศและอัตราค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์โลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากวิกฤตทะเลแดง ส่วนในปี 2568 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่าจะเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ 3.4% จากปีก่อนและมีมูลค่าอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท จากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตช้าลง
สำหรับอัตราค่าขนส่งเฉลี่ยในปี 2568 มีแนวโน้มใกล้เคียงปี 2567 แต่จะมีโอกาสผันผวนมากขึ้น โดยค่าขนส่งทางถนนในประเทศกับค่าขนส่งทางอากาศโลกเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่ค่าขนส่งทางเรือโลกคาดว่าจะลดลง ส่วนราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งด้านหนึ่งส่งผลดีต่อต้นทุน แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้โอกาสในการปรับลดค่าขนส่งทำได้ง่ายขึ้นเพื่อการแข่งขันดึงดูดผู้ใช้บริการ
ขณะที่ Green logistics กับ LogTech เป็น 2 เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโต โดยเทรนด์ Green logistics กำลังเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทยได้เริ่มให้บริการ Green logistics กันมากขึ้น ส่วนเทรนด์ Logistics technology (LogTech) จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งลดต้นทุนบริหารจัดการ
ขณะที่การแข่งขันของธุรกิจในระยะข้างหน้าจะยังสูงต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจคาดว่าจะเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การขยายบริการโลจิสติกส์ที่ทับซ้อนกันมากขึ้นทั้งในประเภทขนส่งและลักษณะสินค้า อันนำมาสู่การแข่งขันด้านราคา
2.การแข่งขับด้านคุณภาพในการขนส่ง จากการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และ 3. การแข่งขันในธุรกิจจัดส่งพัสดุที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งในด้านราคาและคุณภาพบริการ จากสภาพตลาด Red ocean ที่แข่งขันดุเดือดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากผู้ให้บริการรายใหญ่หลายราย
ทั้งนี้จากแนวโน้มการเติบโตและการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ ส่งผลให้ผู้ให้บริการขนส่งทางถนนกับผู้ให้บริการ Freight forwarder ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยจะต้องพิจารณาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ควบคู่ไปด้วยส่วนผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุจะต้องจับตาดูการแข่งขันอย่างใกล้ชิด
สำหรับ 3 ความท้าทายหลักของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2568 และในระยะถัดไป ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัวและเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, การกีดกันทางการค้า, เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวลดลงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและยานพาหนะที่ใช้บริการเพื่อตอบสนองกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและแผนการลดคาร์บอนฟุตพรินต์
3. การใช้เทคโนโลยี AI ในด้านการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยความสามารถในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางขนส่งอย่างเช่นสภาพอากาศกับสภาพจราจร และข้อมูลอัตราค่าขนส่ง อีกทั้งยังสามารถเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ว่าจ้างขนส่งได้อีกด้วย