กระดานข่าว

EPG ชูกลยุทธ์สร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและโอกาสให้แก่ธุรกิจ


15 มกราคม 2568

รศ.ดร. เฉลียว วิทูรปกรณ์ 2567_0_0 (1).jpg

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าปี 2568 เป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ การกีดกันการค้าที่ทวีความรุนแรง และ สงครามการค้ารอบใหม่ เป็นต้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้จะมีอะไรเป็นบวกหรือลบกับบริษัทบ้างนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทต้องปรับกลยุทธ์และวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการคว้าโอกาสให้แก่ธุรกิจ

สำหรับปัจจัยในต่างประเทศ - สหรัฐอเมริกา เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 แล้ว คาดว่าจะนำแนวนโยบายจากการหาเสียงมาใช้ ในกรณีของการปฏิรูปภาษี มีข้อเสนอเรื่องขยายระยะเวลาการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล และ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในบางกลุ่มธุรกิจ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากพิจารณาถึงธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ในสหรัฐอเมริกา Aeroflex USA Inc. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท (บริษัทถือหุ้น 100%) ควรจะได้รับประโยชน์ในกรณีดังกล่าว ส่วนกรณีการใช้นโยบายอัตราภาษีศุลกากรพื้นฐานทั่วไป (Universal Baseline Tariff) ซึ่งจะกำหนดอัตราภาษีพื้นฐาน 10% หรือมากกว่า สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ และ ลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศนั้น ปัจจุบัน Aeroflex USA Inc. นำเข้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจาก บริษัท    แอร์โรเฟลกซ์ จำกัด, ประเทศไทย เพื่อนำไปผลิตต่อในสหรัฐอเมริกา โดยอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป  ต่ำกว่าสินค้าสำเร็จรูป จึงต้องรอความชัดเจนของนโยบายฯ อีกครั้ง ส่วนประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงาน Aeroflex USA Inc. ใช้แรงงานที่มีทักษะและถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติความเร็วสูงและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อทดแทนแรงงานบางส่วน นอกจากนี้ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกาและส่งผลบวกต่อธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น เช่นกัน ในประเด็นสงครามการค้า ผลบวกที่จะเกิดขึ้นคือการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย โดยปัจจุบัน บริษัท แอร์โรเฟลกซ์ จำกัด เริ่มได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและสร้างโรงงานผลิตใหม่ ได้แก่ โรงงานผลิตยานยนต์ EV และ Data Center เป็นต้น

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและผู้บริโภคเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหดตัว ได้แก่ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อยานยนต์ และการแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายยานยนต์จีน เป็นต้น ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระหนี้ครัวเรือน รวมทั้งการผ่อนปรนเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อยานยนต์ เพื่อช่วยให้ยอดขายยานยนต์ในปี 2568 กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ได้กระจายความเสี่ยงด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อส่งขายให้แก่ค่ายยานยนต์ญี่ปุ่น รวมทั้ง มุ่งเน้นผลิตสินค้านวัตกรรมที่มีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งรถยนต์สันดาป และรถยนต์ EV ด้วยมาตรฐานการผลิตของ Aeroklas ส่งผลให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ Aeroklas ผ่านการตรวจสอบจากค่ายยานยนต์จีน ซึ่ง จะได้รับโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอนาคต เมื่อตลาดยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถกระบะในจีนเติบโตขึ้น

สำหรับธุรกิจในออสเตรเลีย Aeroklas Asia Pacific Group Pty. Ltd. (AAPG) ออสเตรเลีย อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร โดยยุติการดำเนินงานใน TJM Off-Road Products Inc. สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม AAPG ออสเตรเลีย จะเป็นผู้ดูแลลูกค้าในสหรัฐอเมริกาต่อไป

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP เผชิญกับสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงต้องสร้างสมดุลให้กับพอร์ตลูกค้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดย EPP มีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต รวมถึงมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มอก./ GMP/ HACCP/ BRC และ FSC จึงสามารถขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น และในปีนี้จะเตรียมขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก

สำหรับราคาวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมี มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยยุคเฟื่องฟูของปิโตรเคมีผ่านพ้นไปแล้ว โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกจีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่เกิดใหม่และการเพิ่มกำลังการผลิตจำนวนมากทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน และคาดว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใต้รัฐบาลใหม่ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย บริษัทซึ่งเป็นผู้ใช้วัตถุดิบหลักประเภท HDPE/ PP/ PS และ PET จะได้รับประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ลดลง

รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่าในปีบัญชี 67/68 (เม.ย.67 – มี.ค.68) บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตประมาณ 8 - 10% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 30 - 33% โดยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน ปีบัญชี 67/68 (เม.ย. - ก.ย.67) บริษัทมียอดขาย 7,182 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดขาย 6,285 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 34% เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่ามีกำไรสุทธิ 391 ล้านบาท ลดลง 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการตั้งสำรองผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อย่างไรก็ตาม กรณี ECL ที่เกิดขึ้น บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอน ปัญหาในกระบวนการผลิตของธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ Supply chain ทั้งหมด ซึ่งเริ่มเห็นการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ 

การดำเนินงานของธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP สามารถดำเนินงานได้ตามแผนธุรกิจ อีกทั้ง บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมทุนอย่างสม่ำเสมอ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีบัญชีนี้(ต.ค.67 - มี.ค.68) ธุรกิจจะสามารถเติบโตได้ดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

EPG