เรื่องเด่นวันนี้

SOLAR ผุดโครงการ “ทำนาเปียกสลับแห้ง” ตั้งเป้า 10 ปี เกษตรกรเข้าร่วมกว่า 6 ล้านไร่ นำไปสู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเ ครดิต ลดก๊าซมีเทนเป็นศูนย์


16 มกราคม 2568

“ข้าว” มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ส่งผลให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ 

SOLAR ผุดโครงการ_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR โดยตัวแทนบริษัท ซิมเมอร์มานน์ จำกัด (ฝ่ายประเทศไทยซึ่งเป็นบริษัทย่อย) ได้บันทึกลงนามข้อตกลงกับบริษัท กรีนคาร์บอน จำกัด (ฝ่ายประเทศญี่ปุ่น) เมื่อเดือนกันยายน 2567 และได้บรรลุข้อตกลงในการลงทุนซื้อขายคาร์บอนเครดิตจาก “ทำนาเปียกสลับแห้ง” โดยใช้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism) เรียกโดยย่อว่า JCM เป็นกลไกแบบทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น 

โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าว ใช้เทคโนโลยี 4 ประเภทในการปรับหน้าดิน ลดการใช้น้ำ ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมและจัดการฟางข้าว ซึ่งการทำนาเปียกสลับแห้งจะไม่ปล่อยให้น้ำขังอยู่ในพื้นที่นาตลอดเวลา จึงช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้ก๊าซมีเทนถือเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 30% เทียบกับวิธีทำนาปกติ จึงเรียกว่า “นาข้าวลดโลกร้อน”

ดังนั้นโครงการความร่วมมือระหว่าง โซลาร์ตรอน และ กรีนคาร์บอน จึงมุ่งพัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาลดโลกร้อนให้แก่เกษตรกรตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้มีเป้าหมายเริ่มโครงการต้นแบบนาข้าวที่จังหวัดกำแพงเพชรกว่า 4,000 ไร่ ซึ่งภายในระยเวลา 10 ปี (2568-2578) ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่า 6 ล้านไร่ และจะทำการวิจัยร่วมกันเพื่อให้การทำนาปล่อยก๊าซมีเทนเป็นศูนย์ในอนาคต

สำหรับเทคนิคการทำนาลดโลกร้อน ได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร พร้อมยังสอดคล้องกับ “ข้อตกลงกลาสโกว์” ในการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงในการเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608

นอกจากโครงการเกี่ยวกับการเกษตร ทาง ซิมเมอร์มานน์ (ประเทศไทย) และ กรีนคาร์บอน (ประเทศญี่ปุ่น) ยังมีการพัฒนาร่วมกันในโครงการอื่นๆ เพื่อลดโลกร้อน เช่น โครงการคาร์บอนเครดิตจากไบโอชาร์จากสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตร, โครงการคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้โดยมีเป้าหมายการลงทุนปีละมากกว่า 10,000 หมื่นไร่ต่อปี