รายงานพิเศษ : ITNS มีปัจจัยบวก เมื่อรัฐบาลผนึกประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อต้านภัยออนไลน์
รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลในอาเซียน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหลอกลวงทางออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจ บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม (ITNS) ที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารครบวงจร
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงบทบาทสำคัญ 3 ประการ ในการกำหนดอนาคตดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ได้แก่
1. การต่อสู้กับการหลอกลวงทางออนไลน์ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การหลอกลวงทางออนไลน์ หรือ "Online Scams" กำลังเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อประชาชน และการแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน
2. ความท้าทายในการจัดการกับข้อมูลเท็จ ปัญหาเรื่องข่าวปลอม และการบิดเบือนข้อมูล เป็นปัญหาที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของสังคม โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนพัฒนากลไกที่เข้มแข็ง ในการตรวจสอบและควบคุมข้อมูลออนไลน์ พร้อมให้ความสำคัญของการเสริมสร้างความรู้เท่าทันดิจิทัลแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ
3. การใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) นายกรัฐมนตรีขอให้ใช้เทคโนโลยี AI อย่างครอบคลุมและมีความรับผิดชอบ โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยธรรมาภิบาลของ AI (Global Forum on the Ethics of AI) ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ในเดือนมิ.ย.68 และเชิญชวนผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หวังว่าการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของอาเซียน สามารถเปลี่ยนวิกฤตต่าง ๆ ให้กลายเป็นโอกาส และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุผลการวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลประจำปี 2567 ของไทย พบว่า อยู่ในอันดับ 37 ลดลง 2 อันดับจากอันดับ 35 ในปี 2566 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป้าหมายของประเทศไทยที่จะขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น โดยต้องดูในเรื่องดิจิทัลโมเดลด้วยว่ามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไร
ขณะที่ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อยู่ลำดับที่ 23 ลดลง 8 อับดับ จากอันดับ 15 ในด้านความรู้ ปรับตัวขึ้นเป็น 40 จากอันดับ 41 ในปี 2566 และในด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ปรับขึ้นเป็น 41 จากอันดับ 42 ในปี 2566
ทั้งนี้การผลักดันทิศทางเกี่ยวกับดิจิทัลในอาเซียน นับเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจของ บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม (ITNS) ในฐานะผู้ประกอบการในธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบสื่อสารอย่างครบวงจร (System Integrator) พร้อมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร การให้บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาอุปกรณ์ และการให้เช่าอุปกรณ์
และบริษัทยังมีความพร้อมในการให้บริการลูกค้าครบวงจร แบ่งออกเป็น 6 ประเภทงาน ได้แก่ ระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (Network Infrastructure), ระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านคอมพิวเตอร์ (Cyber Security), ระบบศูนย์ควบคุมข้อมูล (Data Center), ระบบการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจร (Collaboration), ระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless LAN) และ ระบบการบริหารจัดการเครือข่าย (Network Management)