Mr.Data
สัปดาห์นี้ Mr.Data พามาเก็บตกควันหลง หุ้นค้ำประกันมาร์จิ้น ที่ลากเอาดัชนีตลาดหุ้นไทยหลุด 1,400 จุด ลงมาทดสอบจุดต่ำสุดที่ 1,340.25 จุด ลดลงกว่า 60 จุด ภายในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ หลังเปิดศักราชใหม่ปี 2468
ตัวแปรหลักที่กดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยอย่างหนักหน่วง หนีไม่พ้นหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำไปค้ำประกันมาร์จิ้น ซึ่งเป็นปัญหาลากยาวมาตั้งแต่กลางปี 2567 ที่กลายเป็นตัวชี้เป้า “ถูกทุบ” สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย
จนเป็นที่มาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียม “สังคายนา” การรายงานข้อมูลการจำนำหุ้น ทั้งในและนอกตลาดใหม่ โดยหวังว่าจะเป็นการ “ล้อมคอก” ป้องกันผลกระทบในวงกว้าง ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย
หลังจากในช่วงที่ผ่านมาการไหลลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ถูกกดดันจากหุ้นค้ำประกันมาร์จิ้น จากการถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่นำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น ไม่สามารถนำเงินไปเติม จนหุ้นหลายตัวในตลาดถูกฟอร์ซเซล ร่วง 3-4 ฟลอร์ติด
ไล่เรียงตั้งแต่หุ้น บมจ.ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) ที่ร่วงแรงตั้งแต่ปลายเดือนกลางเดือนธันวาคม 2567 ราคาดำดิ่งจาก 3.86 บาท ลงมาทดสอบจุดต่ำสุดแถว 0.51 บาท ราคาหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 86.78%โดย 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ยอมรับถูกฟอร์ซเซล จากการนำหุ้นไปค้ำประกันมาร์จิ้น
ตามมาด้วยหุ้น บมจ.อาร์เอส (RS) และบมจ.อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด (RSXYZ) ของ “เฮียฮ้อ”สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับถูกฟอร์ซเซลเช่นเดียวกัน หลังนำหุ้นไปจำนำทั้งในและนอกตลาด
โดยราคาหุ้น RS ย้อนหลัง 1 เดือน ปรับตัวลดลงจาก 5.70 บาท ลงมาทดสอบจุดต่ำสุดแถว 1.22 บาท ปรับตัวลดลง 78.59%
ส่วน RSXYZ ราคาปรับตัวลดลงจาก 1.87 บาท ลงไปทำจุดต่ำสุดแถว 0.68 บาท ลดลง 63.63%
มากันที่ บมจ.แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป (A5) หุ้นอสังหาฯที่เข้ารีซูมเทรดในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ผ่านการแบ็คดอร์ บมจ.อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น (ADAM) โดยเข้าเทรดวันแรกในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ราคาเปิดพุ่งแตะ 9 บาท ก่อนถูกเทขายทำกำไรในวันแรก กดดันราคาร่วงปิดตลาดที่ 2.18 บาท
แม้ผลการดำเนินงานของ A5 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2565-9 เดือนปี 2567 รายได้และกำไรจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 664.43 ล้านบาท 1,498.29 ล้านบาท และ 1,481.54 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 97.79 ล้านบาท 506.43 ล้านบาท และ 488.90 ล้านบาท ตามลำดับ โดยผู้บริหาร A5 มั่นใจตลาดอสังหาฯระดับลักซัวรี่ ยังเติบโตดี และแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2567 คาดว่าจะ All Time High อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า หุ้น A5 มีการนำไปเป็นหลักทรัพย์ที่วางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นสูงถึง 521,424,066 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 43.12% ต่อจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายไปแล้วทั้งหมดของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
ขณะที่มีรายงานว่า นายทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของบริษัทฯ ได้จำหน่ายหุ้นจำนวน 25,500,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.1646% เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ส่งผลให้หุ้นที่ถูกลดลงเหลือ 106,843,700 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9.6%
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯในวันที่ 15 พ.ค.67 นาย ทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล ถือหุ้นจำนวน 271,755,700 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 22.47%
ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น A5 ย้อนหลัง 1 เดือนพบว่า ราคาหุ้นปรับตัวสูงสุดที่ 2.82 บาท ลงมาทดสอบจุดต่ำสุดที่ 2.14 บาท ลดลง 24.11%
การร่วงลงของราคาหุ้นและการขายหุ้นออกของผู้บริหาร เป็นช่วงเวลา “คาบลูกคาบดอก” ที่เกิดขึ้นกับหุ้นค้ำประกันมาร์จิ้น แม้ผู้บริหารจะยืนยันว่าไม่กระทบกับโครงสร้างการบริหาร...แต่สิ่งที่ยังเป็นที่ฉงนของนักลงทุนคือ ขายให้ใคร นี่ล่ะ!
...หวังว่าคงไม่ใช่อย่างที่หลายคนแอบคิด และอดเป็นห่วงไม่ได้จริงๆ นาทีนี้