Talk of The Town

MASTER - KLINIQ หุ้นค้ำมาร์จิ้นฟาด! ราคาดิ่งหนักเป็นประวัติการณ์


21 มกราคม 2568

2 หุ้นดำเนินธุรกิจศัลยกรรมความงามครบวงจร บมจ.มาสเตอร์ สไตล์ (MASTER) และ บมจ.เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม (KLINIQ) หลังเปิดศักราชใหม่ปี 2568 เพียงไม่กี่สัปดาห์ ราคาหุ้น MASTER ราคาย้อนหลัง 1 เดือนปรับตัวลดลงกว่า 27.47% จากระดับสูงสุดที่ 48.50 บาท/หุ้น ลงมาที่ 24.80 บาท ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

MASTER - KLINIQ_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

MASTER เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 25 ม.ค.2566 ราคาเปิดอยู่ที่ 62.25 บาท เพิ่มขึ้น 35.33% จาก IPO หุ้นละ 46.00 บาท 

โดย MASTER  ดำเนินธุรกิจสถานพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช" ให้บริการศัลยกรรมได้หลากหลาย อาทิศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมยกคิ้วและกรอบหน้า ศัลยกรรมหน้าอก ศัลยกรรมดูดไขมันปรับรูปร่าง ศัลยกรรมตา ศัลยกรรมปรับโครงสร้างรูปหน้า เป็นต้น รวมถึงการปลูกผม ดูแลเส้นผม และให้บริการดูแลผิวพรรณและเลเซอร์ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐานระดับสากล

ส่วน บมจ.เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม (KLINIQ) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 7 พ.ย.2565 ราคาเปิดอยู่ที่ 36.00 บาท เพิ่มขึ้น 46.94% จาก IPO ที่หุ้นละ 24.50 บาท เข้าเทรด 7 พ.ย.2565 ขณะที่ราคาย้อนหลัง 1 เดือน 8.33% จากราคาสูงสุดที่ 32.50 บาท ลงมาทดสอบ 26.00 บาท/หุ้น ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

KLINIQ ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านผิวหนังความงาม ศัลยกรรมตกแต่งและการดูแลป้องกันฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวมที่ทันสมัยตามหลักการแพทย์ ได้แก่การให้บริการด้านการรักษาโรคผิวหนัง ผิวพรรณความงาม ลดน้ำหนัก ดูแลรูปร่าง ศัลยกรรม Wellness และฟื้นฟูสุขภาพ  ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทมีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำรวม 39สาขา ครอบคลุม 15 จังหวัด ทั่ว 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ คลินิกเวชกรรม 35 สาขา ศูนย์ศัลยกรรม 1 สาขาที่สยามสแควร์ และร้านทำเล็บ 3 สาขา

ราคาหุ้น MASTER และ KLINIQ ที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความกังวลปัญหาหุ้นค้ำมาร์จิ้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรกดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทย ยิ่งตัวไหนมีรายงานผู้บริหารขายหุ้นบิ๊กล็อต ในช่วงที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง 

...ยิ่งทำให้นักลงทุนที่ไม่รู้ แอบตั้งข้อสงสัย ผู้บริหารถูกฟอร์ซเซลออกมาหรือไม่

โดยเฉพาะ MASTER ที่มีการขายหุ้นบิ๊กล็อต 11.37 ล้านหุ้น ราคาขาย 37 บาท/หุ้น ต่ำกว่าราคาในกระดาน แม้จะมีการยืนยันจากผู้บริหารว่า ไม่ได้เกิดจากแรงฟอร์ซเซล และผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่ได้การนำหุ้นไปค้ำมาร์จิ้นแต่อย่างใด 

การขายหุ้น 3.78% ทำโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ (นพ.ระวีวัฒน์) โดยขายให้กับกองทุนต่างประเทศ 4 แห่ง และจะมี Lock-up period (ห้ามขายหุ้น) 6-12 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่ม Free Float (ณ 20 มี.ค.67 มี 31.9%) ยืนยันจะขายไม่เกิน 5% หลังการขาย กลุ่ม นพ.ระวีวัฒน์ ยังคงถือหุ้น 55.59% โครงสร้างการบริหารจึงไม่เปลี่ยน

ผู้บริหารยืนยันว่าไม่ได้มีการนำหุ้นไปจำนำ หรือ ขอวงเงิน Margin แล้วถูกบังคับขาย Forced sell แต่อย่างใด ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/67 ยังคงเติบโตได้ดีเป็นไปตามแผนทั้งในส่วนของ MASTER และ บริษัทร่วมต่างๆ เราคาดกำไรสุทธิ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.1% จากไตรมาสก่อน และ เพิ่มขึ้น 22.5% จากปีก่อนเป็นสถิติใหม่

บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า MASTER จัดประชุมทางไกล หลังราคาหุ้นปรับตัวลง 14.4% ใน 3 วัน จากนั้น จึงมีข่าวการทำ Big Lot 11.36 ล้านหุ้น มูลค่า 420 ล้านบาท ที่ราคา 37.00 บาท ซึ่งต่ำกว่ากระดาน 8.0% และคิดเป็น 3.78% ของหุ้นทั้งหมด ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงต่อไปที่ Floor 28.25 บาท จึงเป็นภาพหุ้นลงลึก 39.8% ใน 4 วันทำการ 

แม้แนวโน้มธุรกิจยังเป็นไปตามกรอบประมาณการของเรา และอยู่ในเมกะเทรนด์ แต่พฤติกรรมราคาหุ้นที่ไม่เป็นธรรมชาติในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา และราคาขายที่ 37.00 บาท สะท้อนเป็น P/E ปี 68 เพียง 16.1 เท่า ซึ่งสะท้อนการต่อรอง และมุมมองของ ผู้ซื้อ-ผู้ขาย(ผู้บริหาร) ว่าอุตสาหกรรมนี้ ไม่ง่ายเหมือนก่อน สอดคล้องกับการ derate ของกลุ่มโรงพยาบาลก่อนหน้า ขณะที่ประเด็น Free Float เรามองว่าปัจจุบันมีมากอยู่แล้ว

Big Lot มักได้ส่วนลด 5-10% จากราคาเสนอขาย ดังนั้น P/E เป้าหมายบนสถานการณ์ที่บริษัทกระทำ จึงเสมือนที่ 16.9 เท่า ราคาเหมาะสมใหม่จึงเป็น 38.75 บาท/ หุ้น

ขณะที่ความเสี่ยงของราคาหุ้นที่ไม่เป็นธรรมชาติ, ความคลาดเคลื่อน EPS ปีนี้ และ Overhang ของหุ้น 11.36 ล้านหุ้น เมื่อหมด Lock-up period ก็ยังคงปกคลุม แม้เราจะคงประมาณการ แต่เราลดคำแนะนำเป็น "ถือ"

จากการตรวจสอบข้อมูลหลักทรัพย์ค้ำประกันมาร์จิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567  MASTER หลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 27.14 ล้านหุ้น คิดเป็น 9% ที่วางประกันต่อจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้ว

ส่วน KLINIQ หลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ที่ 11.85 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.39% ที่วางประกันต่อจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้ว