Talk of The Town

PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต


21 มกราคม 2568

โดดเด่นต่อเนื่อง สำหรับบริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน

PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม_S2T (เว็บ) copy.jpg

ล่าสุด PCE เปิดแผนธุรกิจปี 68 พร้อมเดินหน้า ขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ขยายกำลังการผลิตด้วยการกลั่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) รวมทั้งเน้นผลิตและจำหน่ายน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และมีแผนลงทุนด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม

“พรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล” รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ PCE มองว่า ปี 2568 มีแนวโน้มว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มไปจีน และอินเดียยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี โดย PCE จะขยายกำลังการผลิต เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ 

และที่สำคัญ PCE ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญด้าน ESG ซึ่งมีโครงการส่งเสริมการนำน้ำมันพืชใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำน้ำมันเก่า 2 ขวดมาแลกเป็นน้ำมันใหม่ 1 ขวด รวมถึงโครงการรวมพลังสร้างปาล์มน้ำมันไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด โดยเป็นการร่วมลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐ

ในปี 2568 PCE ตั้งเป้าหมายมีรายได้ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน โดยวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าในธุรกิจการสกัดและการกลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนขยายเป็น Bio Complex 

เช่น ลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการน้ำเสีย รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

รวมถึงให้ความสำคัญด้านการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดน้ำมันปาล์มและอื่นๆ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปาล์มที่บริษัทฯ มีอยู่ เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) โดยสัดส่วนการเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายเป็น 40,000 ตันจากเดิม 15,000 ตัน อีกด้วย อีกทั้งยังวางแผนการส่งออกกะลาปาล์มให้มากกว่า 100,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ วางแผนขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก 90 ตัน/ชม. เป็น 135 ตัน/ชม. ขยายกำลังการผลิตด้วยการกลั่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) จาก 300 ตัน/วัน เป็น 700 ตัน/วัน ตลอดจนเน้นผลิตและจำหน่ายน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และมีแผนลงทุนด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เพื่อให้การสกัดน้ำมันปาล์มมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและบริการทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองอัตราการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน 3% (ข้อมูลจากกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์) 

ขณะที่ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองปี 2568 ทิศทางผลประกอบการจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยคงประมาณการกำไรสุทธิที่ 703 ล้านบาท เติบโต 37% จากปี 2567 ที่คาดจะมีกำไรสุทธิ 511 ล้านบาท

หนุนจาก 1.อานิสงส์บวก จากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์น้ำมันปาล์มในตลาดโลก โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราผสมดีเซลของอินโดนีเซีย จาก B35 เป็น B40 ในเดือนก.พ. (เลื่อนจากต้นปี 2568 ราว 1.5 เดือน เพื่อเป็น Grace Period ให้ ภาคอุตสาหกรรมปรับตัว) นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังประกาศว่าปี 2569 จะเพิ่มอัตราผสมเป็น B50 

2.อัตรากำไรส่งออกน้ำมันปาล์มได้ประโยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่า (PCE เป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ของประเทศ) 3.รับรู้ปริมาณขายไบโอดีเซลภายใต้สัญญาขายกับลูกค้ารายใหม่ และผลิตภัณฑ์ใหม่ RBDPKO ที่เริ่มจำหน่ายในปี 2567 เต็มปี

ดังนั้นทางพื้นฐานมองว่า PCE ยังมีความน่าสนใจจากการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศ, ระยะสั้นยังมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/67 แข็งแกร่ง, และได้ Sentiment บวกจากการไต่ระดับขึ้นของราคาน้ำมันปาล์มในช่วงนี้ 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบัน เหลือ Upside Gain สู่ราคาเป้าหมาย 13.2% จึงแนะนำ “เก็งกำไร” ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2568 ที่ 3.60 บาท โดยเชิงกลยุทธ์นักลงทุนอาจ Let Profit Run เพราะงบไตรมาส 4/67 แข็งแกร่ง และรอจังหวะ เพิ่มน้ำหนักลงทุนเมื่อหุ้นมี Upside เปิดกว้างกว่านี้ (คาดประกาศงบวันที่ 21 ก.พ.)

PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม_S2T (เพจ) copy.jpg

PCE