หลังจากที่รัฐบาลได้เข็นโครงการเมกะโปรเจกต์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็ได้นำโครงการจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (FINANCIAL HUB) ในการพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน ก.พ. ปี 68
สำหรับธุรกิจเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดให้เข้ามาลงทุน และตั้งบริษัทในไทย คือธุรกิจธนาคารพาณิชย์, ธุรกิจบริการการชำระเงิน, ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, ธุรกิจประกันภัย, ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด คาดว่าประเด็นดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริงและมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน ได้แก่ ดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย, ทำให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น, เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย, เกิดการจ้างงานในประเทศ และเกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย
สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ คือ ประกอบไปด้วย หุ้นกลุ่มนิคมและหุ้นลงทุนเทคฯ AMATA WHA AIT INSET, หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว และออฟฟิศ CENTEL MINT ERW AWC, หุ้นกลุ่มการเงิน KTB BBL KBANK TISCO และหุ้นอุปโภค-บริโภค CPALL DOHOME BJC CBG MTC SAWAD
ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมินเป็นบวกต่อเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาว จากการจ้างงานเพิ่มขึ้น การมีสถาบันการเงินต่างประเทศรองรับธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย รวมการขยายขอบเขตบริการทางการเงินคนไทยออกไปต่างประเทศ
พร้อมกับ ประเมินเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารในส่วนธุรกรรมการลงทุน+การเงินในประเทศโดยรวมจะเพิ่มขึ้น เน้นหุ้นธนาคารใหญ่ KBANK, SCB, BBL หุ้นนิคม (การผลักดัน Financial Hub ส่วนหนึ่งคาดมีผลเป้าหมายดึง FDI) และกลุ่ม Digital Tech Consult อาทิ BE8 BBIK ที่มีโอกาสได้งานเกี่ยวข้องกับระบบดิจิตอลสถาบันการเงินต่างประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามา