Talk of The Town

ดร.นิเวศน์ มองหุ้นไทยลงรอบนี้ยังไม่จบ แนะนำปรับโหมดลงทุนเป็น “ตั้งรับ” ชี้วิธีปลอดภัยคือ ถือเงินสดให้มากที่สุด


03 กุมภาพันธ์ 2568

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่า เปิดเผยว่า ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เดือนแรกของปี 2025 อยู่ที่ - 6.1% และเป็นการตกลงมาอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ้นที่ตกลงมานั้นเกิดขึ้นในแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและแทบทุกกลุ่มหุ้น เช่น หุ้น “เก็งกำไร” หุ้น “ปั่น”  หุ้น “VI” และหุ้น “ปันผล”  ไม่ต้องพูดถึงหุ้น “เติบโต” หรือหุ้น “คอร์เนอร์” ที่เคยเป็น  “ดารา” ที่มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมากในช่วงก่อนและทำให้ราคาหุ้นแพงมากที่มีค่า PE สูงกว่าปกติมากที่ “คอร์เนอร์แตก” ราคาหุ้นตกลงมามากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงเกิดขึ้นกับบริษัท

ดร.นิเวศน์ มองหุ้นไทยลงรอบนี้ยังไม่จบ_S2T (เว.jpg

การตกลงมาของหุ้นรอบนี้ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบ  บางทีอาจจะเพิ่งเริ่มต้น  เพราะเหตุผลที่ทำให้หุ้นตกนั้นยังคงอยู่ “ครบถ้วน” ไม่ว่าจะเป็น 1) การเติบโตของ GDP ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ดีขึ้นในปีนี้  2) อัตราดอกเบี้ยที่  “คงจะไม่ลด” และก็จะยังรบกวนไม่ให้หุ้นขึ้นไปได้ทั้งในระดับโลกและของไทย 3) กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะไม่ดีขึ้นเพราะความต้องการสินค้าในประเทศที่ยังอ่อนแออานิสงค์จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี  การใช้จ่ายรายการใหญ่เช่น  การซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว  และ  4) หุ้นโดยรวมมีราคาแพงวัดจากค่า PE ที่สูงถึง 18 เท่า

จะมีที่เป็นบวกหน่อยก็คือ ปัจจัยทาง “เทคนิค” ที่ว่า  ดัชนีหุ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “เลวร้าย” มาก คือปี 2565 บวกแค่ 0.7% ปี 2566 ติดลบ 15.2% และปี 2567 ติดลบ 1.1% ในขณะที่ตลาดหุ้นโลกสดใส ดังนั้น ปี 2568 ดัชนีไทยก็ควรจะต้องดี  ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เคยเป็นติดต่อกันมากว่า 20 ปี  อย่างไรก็ตาม  ในฐานะของคนที่เน้นเรื่องของ “พื้นฐาน” เป็นหลัก  ผมคิดว่า  “รอบนี้” ตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  และเราก็จะต้องเปลี่ยนกลยุทธการลงทุน

เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ต้องปรับ  “โหมด” การลงทุนของเรา จากโหมดของการ “รุก” เป็นโหมด “รับ” เต็มตัว ซึ่งนี่ก็คล้ายๆ กับเรื่องของการรบในสงครามที่เรารู้ว่าเราสู้ไม่ได้เมื่อมีการรบกันระยะหนึ่งแล้ว การที่จะบุกเข้าไปต่อสู้นั้น โอกาสที่จะแพ้สูง ทางที่ดีกว่าก็คือ  การปรับกองทัพตั้งรับข้าศึกซึ่งจะทำให้มีโอกาสรอดมากกว่า

นักลงทุนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้นมากและมีความมั่งคั่งในระดับที่มีอิสรภาพทางการเงินรวมถึงคนที่ “รวย” จากหุ้นไปแล้วนั้น ผมคิดว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปมากพอที่จะทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการลงทุนของเราจากการที่เน้นลงทุนในหุ้นเติบโต หุ้นวัฎจักร หรือหุ้นฟื้นตัวที่มีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนมาก ๆ  ในเวลาอันสั้น  มาเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีความปลอดภัยสูงเป็นพิเศษ  หรือไม่ก็ไม่ลงทุนในหุ้นเลย  เพื่อที่จะ “รักษาความมั่งคั่ง” ของเราไว้ได้

การรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ให้เท่ากับระดับเดิมหรือใกล้เคียงนั้น  วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดก็คือ  ถือเงินสดให้มากที่สุด  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนใหญ่ถึงระดับหนึ่งก็มักจะพบว่าการแปลงพอร์ตหุ้นให้เป็นเงินสดโดยที่ราคาหรือมูลค่าไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในภาวะที่ตลาดหุ้นซบเซาและสภาพคล่องของหุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กหายไปมาก  ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย

ดังนั้น การเลือกหุ้นที่จะขายเพื่อเก็บเป็นเงินสดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หุ้นที่มีราคาแพงโดยเฉพาะที่มีค่า PE สูงและกำไรในช่วงประมาณ 1-2 ไตรมาศข้างหน้าคงไม่โตนัก  จึงเป็นเป้าหมายที่ควรจะขายออกไป  อย่างไรก็ตาม  การขายก็ต้องทยอยทำและต้องไม่รีบจนเกินไปที่อาจจะทำให้คนอื่น “ตกใจ” เมื่อเห็นว่าหุ้นตกแรงและขายตาม  ซึ่งอาจจะทำให้หุ้นตกลงไปอีกเป็นลูกโซ่และตกในระดับ  “คอร์เนอร์แตก” ซึ่งจะทำให้พอร์ตเสียหายหนัก

หุ้นราคาไม่แพงแต่ไม่มีอะไรโดดเด่นและที่สำคัญก็ไม่ได้จ่ายปันผลมากเทียบกับราคาหุ้น เช่น ให้ปันผลตอบแทนแค่ 3-4% ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ก็ต้องถือว่าเป็นเป้าหมายที่ควรจะถูกขายออกไปเพื่อเก็บเป็นเงินสดจะดีกว่า แม้ว่าเงินสดจะให้ผลตอบแทนแค่ 1%  แต่ความเสี่ยงที่จะลดลงไม่มี   ในขณะที่หุ้นตัวนั้น  ที่เราอาจจะมองว่าดีพอสมควรและมีปันผล “พอใช้ได้” ค่า PE ก็แค่ 10 เท่าต้น ๆ  แต่ในความเห็นของผมแล้ว  ความเสี่ยงที่หุ้นจะตกลงไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับตลาดหุ้นในช่วงไม่นานนับจากนี้อาจจะมากกว่าที่เราคิด  ดังนั้น  ถ้าคิดจะรักษาความมั่งคั่งให้คงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้  เราก็อาจจะต้องยอมขายหุ้นทิ้ง

หุ้นที่ถูกมาก ค่า  PE ปกติต่ำกว่า 10 เท่าและ/หรือปันผลตอบแทนปีละ 5-6% ขึ้นไปต่อเนื่องหลายปี เป็นหุ้นที่อาจจะถือไว้ได้และยังสามารถรักษาความมั่งคั่งไว้ได้แม้ในยามที่สภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยอย่างปัจจุบัน  ผมเองมีความเชื่อว่า  หากการจ่ายปันผลยังทำได้เท่าเดิมก็อาจจะมีคนเข้าไปซื้อลงทุนกินปันผลแม้ว่าหุ้นจะตกลงมา  ซึ่งนั่นก็จะทำให้หุ้นไม่ค่อยตกหรือตกลงมาไม่แรงมาก  อาจจะไม่เกิน 5-6%  ซึ่งก็จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่เป็นลบหรือลดลงไม่มาก  อย่างไรก็ตาม  ถ้าจะให้ปลอดภัยขึ้นอีก  ก็ควรจะต้องดูว่าหนี้ของบริษัทก็มีน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย  เพราะบริษัทที่มีหนี้น้อยนั้น  จะยืนอยู่ได้ในยามที่ธุรกิจอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก

หุ้นที่อยู่ในประเทศที่เติบโตเร็วและอนาคตก็ยังคงเติบโตเร็วต่อไป  อย่างตลาดหุ้นเวียตนามนั้น ถ้ามีราคาถูก  เช่นมีค่า PE 10-15 เท่า  และก็ไม่ได้เป็นธุรกิจเก่าที่ไม่โตแล้ว  หรือไม่ได้เป็นธุรกิจของรัฐที่มีการบริหารงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ผมคิดว่ามีความเสี่ยงที่ราคาจะลดลงแรงน้อยกว่าในตลาดหุ้นไทยมาก  เหตุผลก็คือ กิจการมักจะโตไปกับเศรษฐกิจ และการแข่งขันจากคู่แข่งก็จะไม่มาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พวกเขามักจะอยู่ในกลุ่มของ “ผู้ชนะ” ที่กำลังแข่งกับธุรกิจรุ่นเก่าหรือบริษัทของรัฐที่มีความสามารถด้อยกว่า

ในกรณีของหุ้นที่ไม่ได้มีราคาถูก แต่มีคุณสมบัติสูงมากและกำลังเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อก ในตลาดหุ้นโตเร็วอย่างเวียตนามนั้น  ถ้าหุ้นมีค่า PE ในระดับไม่เกิน 25 เท่า และการเติบโตของรายได้หรือกำไรยังคงเป็นเลข 2 หลัก  ผมคิดว่าความเสี่ยงที่หุ้นจะตกมาแรงและทำลายความมั่งคั่งลงมากนั้น  น่าจะน้อย  เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถ้าการเติบโตของประเทศยังไปได้ดี  ความต้องการที่จะเข้าไปถือหุ้นลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และนั่นทำให้หุ้นไม่ควรจะตกลงมาแรงมากแม้ว่าบางทีอาจจะเกิดภาวะวิกฤติในตลาดระดับโลกก็ตาม

ดังนั้น  ในกรณีของหุ้นที่อยู่ในตลาดที่กำลังเติบโตดังกล่าว  การลงทุนในหุ้นน่าจะเป็นกลยุทธในการรักษาความมั่งคั่งของเราได้  ว่าที่จริงมีโอกาสสูงที่หุ้นในตลาดแบบนั้นจะกลายเป็น “หุ้นนายแบก” ที่คอย  “ชดเชย” การขาดทุนในตลาดหุ้นไทย  ทำให้เราสามารถรักษาความมั่งคั่งไม่ให้ลดลงได้แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะ “แย่มาก”

“หุ้นโลก” ซึ่งก็คือหุ้นระดับซุปเปอร์สต็อกที่ส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกานั้น  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  และหุ้นก็มีราคาค่อนข้างแพง  ค่า PE ระดับ 30 เท่า ผมคิดว่าเป็นหุ้นที่ไม่สามารถจะไว้ใจได้ว่าจะช่วยรักษาความมั่งคั่งของเราได้ในช่วงเร็ว ๆ นี้ เหตุผลส่วนหนึ่งที่สำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นซึ่งสามารถกระทบกับหุ้นได้อย่างรุนแรง  บางทีในชั่วข้ามคืน

ดังนั้น  เราคงต้องเลือกว่าจะลงทุนในหุ้นแบบไหน ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าจะลงทุนผมจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีโอกาสถูกกระทบโดยปัจจัยทางเทคโนโลยีและการเมืองระหว่างประเทศสูง และเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความมั่นคง อาจจะด้วยเพราะหุ้นมี “Network Effect” หรือเป็นหุ้นที่อิงอยู่กับความคิดหรือจิตใจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมากกว่า และก็ยังต้องมีราคาไม่แพงเกินไป

ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธการเลือกหุ้นเป็นรายตัวในตลาดหุ้นทั้งสามคือ  ตลาดหุ้นไทย  ตลาดหุ้นในตลาดเติบโตแบบเวียตนาม  และในตลาดหุ้นโลก  ในแบบที่จะรักษาความมั่งคั่งไว้ไม่ให้ลดลงเป็นหลัก  เช่นเดียวกับกลยุทธถือเงินสดให้มากขึ้นซึ่งก็จะลดความเสี่ยงในการที่หุ้นจะตกลงมารุนแรงด้วย  อย่างไรก็ตาม  การถือเงินสดที่มากเกินไปก็อาจจะไม่เหมาะสม  เพราะโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีก็อาจจะหมดไปด้วย

ข้อเตือนใจสุดท้ายก็คือ โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อรวยพอแล้ว  ถ้ารวยเพิ่มอีก ส่วนที่เพิ่มนั้นให้ความพึงพอใจน้อยลงเรื่อย ๆ   แต่ถ้ารวยอยู่แล้วเกิด “จนลง” หรือความมั่งคั่งน้อยลง ความเจ็บปวดที่จะได้รับนั้น จะรุนแรงเป็น 2 เท่าของความพึงพอใจที่ได้รับเมื่อรวยขึ้น  ดังนั้น อย่าโลภคิดถึงแต่ความมั่งคั่งที่จะเพิ่มขึ้น แต่จงคิดถึงวิธีที่จะรักษาความมั่งคั่งให้คงอยู่ตลอดไปมากกว่า  ซึ่งก็ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ และถือเงินสด แต่เป็นการลงทุนที่ยึดความปลอดภัยโดยเฉพาะในยามที่ตลาดไม่เอื้ออำนวยเป็นหลัก