กระดานข่าว

สกพอ. จับมือ กอช. ลงนาม MOU พัฒนาศักยภาพพื้นที่ชุมชน เร่งสร้างทักษะวางแผนการออมเงิน สู่วัยเกษียณที่มั่นคง ในพื้นที่อีอีซี


05 กุมภาพันธ์ 2568

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการส่งเสริมการวางแผนและการให้ความรู้ทางการเงิน โดยมีนายธีรลักษ์ แสงสนิท รองปลัดกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วม เพื่อร่วมกันส่งเสริมการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ และพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่อีอีซี  ณ ห้องประชุม 401 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง  

EEC (9).JPG

นายธีรลักษ์ แสงสนิท รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น การเข้าสู่สังคม สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คนไทยยังขาดเงินออมเพื่อรองรับชีวิตในยามเกษียณ ซึ่งการมีแผนทางการเงินที่ดี จึงเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เชื่อว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะนําไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย ได้เข้าถึงโอกาสการออมเงิน เพื่อให้ได้มีเงินบํานาญใช้ในยามชราภาพได้อย่างเท่าเทียม

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การลงนาม MOU ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ อีอีซี จะเชื่อมประสานกับ กอช. เพื่อร่วมกันส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนการวางแผนทางการเงินเพื่อการออมให้สามารถเตรียมความพร้อมรับกับวัยเกษียณ ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย อาทิ ผู้ประกอบการ ผู้อยู่อาศัย ประชาชนในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และมีโอกาสเลือกรับสิทธิสวัสดิการด้านการเงินบำนาญ เมื่ออายุครบ 60 ปี จากทางกอช. ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการวางแผนด้านการเงินและการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างมั่นคงด้านการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง

“การพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่ อีอีซี นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนในพื้นที่พร้อมรับต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้เข้าถึงความรู้ในด้านการเงินและการออม สอดคล้องกับภารกิจอีอีซีในการเชื่อมประโยชน์จากการลงทุน สู่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และสังคมให้เติบโตแบบยั่งยืน” นายจุฬา กล่าว

ด้านนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งเสริมการออมในครั้งนี้ เป็นกุญแจสําคัญในการยกระดับความรู้ทางการเงินและเสริมสร้างความ เข้มแข็งให้กับบุคลากรและครอบครัวใน 3 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัด ชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านกิจกรรม และโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างทักษะ ทางการเงิน ได้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพราะการมีสุขภาพทางการเงินที่ดี จะนําไปสู่การเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ

“ประเทศไทยเข้า สู่สังคม สูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากร สูงวัยเกิน 20 % จากสัดส่วนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ก็ยังขาดทักษะการวางแผนทาง การเงินให้กับตัวเอง ที่สําคัญผู้สูงอายุจํานวนไม่น้อย ที่พึ่งพารายได้หลักจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และประชาชนอีกจํานวนมาก ไม่มีเงินออมไว้ใช้ในยามชราภาพ สาเหตุส่วนหนึ่ง เพราะยังขาดระบบที่เอื้อต่อ การออมเงิน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ กว่า 21 ล้านคน ที่ยังขาดสิทธิสวัสดิการ ใดๆ รองรับ ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนการออมเพื่อการชราภาพ จึงเป็นเป้าหมายที่สําคัญของ กอช. ในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

สําหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. ต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. โดยเริ่มต้นส่งเงินออมขั้นต่ําเพียง 50 บาท สูงสุด 30,000 บาท และไม่จําเป็นต้องส่งเงินออมเป็นประจําหรือเท่ากันทุกเดือน และสามารถนําเงิน ออมไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ รัฐยังคุ้มครองผลตอบแทนการลงทุนเมื่ออายุครบ 60ปี และยังคงได้รับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐตามปกติ อาทิ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สิทธิบัตรทอง 30 บาท เป็น ต้น โดยทุกครั้งที่คุณออมจะมีรัฐช่วยสมทบเงินออมให้สูงสุด 100 % แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ตามช่วงอายุ ดังนี้

  • อายุ 15-30 ปี รัฐสมทบให้ร้อยละ 50 ของเงินออมในเดือนถัดไป แต่ไม่เกิน 1,800บาทต่อปี
  • อายุ 31-50 ปี รัฐสมทบให้ร้อยละ 80 ของเงินออมในเดือนถัดไป แต่ไม่เกิน 1,800บาทต่อปี
  • อายุ 51-60 ปี รัฐสมทบให้ร้อยละ 100 ของเงินออมในเดือนถัดไป แต่ไม่เกิน 1,800บาทต่อปี

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสิทธิและสมัครได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ พร้อมกันนี้ กอช. ขอแนะนําให้สมาชิกส่งเงินออม เพียง 5 ปี ปีละ 30,000 บาท ก็มีสิทธิรับบํานาญตลอดชีพได้ ซึ่งสามารถ สมัครและส่งเงินออม ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. , เป๋าตัง, ทางรัฐ, MyMo, กรุงไทยเน็กซ์, ทรูมันนี่, เคพลัส, เป๋าตัง, ออมเพลิน หรือทางไลน์แอด กอช. @nsf.th และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนเงินออม 02 049 9000