รายงานพิเศษ : IND ได้ประโยชน์การลงทุนภาครัฐ หนุนเป้ารายได้ปี 68 โต10-15% จัดทัพเดินหน้าลุยประมูลงานต่อเนื่อง
บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) ประกาศความพร้อมเดินหน้าเข้าประมูลงานภาครัฐ ตั้งเป้ารายได้ปี68 โต10-15%
“การลงทุนก่อสร้างภาครัฐ” นับเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายงานและการเติบโตของภาคเอกชน
รวมทั้งผลงานของ บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) โดย ดร.พรลภัส ณ ลำพูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มั่นใจ ปีนี้บริษัทยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหลังมีงานที่อยู่ในมือกว่า 3,000 ล้านบาท รวมทั้งยังได้งานในช่วงสิ้นปี 2567 ที่ผ่านมา ทั้งโครงการรถไฟรถไฟฟ้าสายสีส้มวงเงิน 1,400 ล้านบาท และโครงการส่วนต่อขยายระบบท่อขนส่งนํ้ามันสายเหนือ ที่เป็นบริษัทลูกของ BAFS วงเงินกว่า 600 ล้านบาท ที่จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ภายในปีนี้
ขณะที่การประมูลงานใหม่ในปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานของภาครัฐเกือบทั้งหมด โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถประมูลงานได้ประมาณ 50 - 60% ของเป้าที่วางไว้ เนื่องจากจะเน้นคัดเลือกเฉพาะโครงการที่สามารถทำกำไรได้เป็นหลัก
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 10-15% และคาดว่าการเติบโตของบริษัทจะยังต่อเนื่องไปได้อีกอย่างน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมในการเข้าประมูลงานใหม่ ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น
ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ปี 2568นี้กระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคม จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท โดยแบ่ง เป็น 5 มิติ ประกอบด้วย
1. มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน และพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง 50 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา) และขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร M9 ช่วงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ให้ครบทุกเส้นทาง
2. มิติพัฒนาการขนส่งทางบก ซึ่งในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 41 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 17 โครงการ เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การจัดหาเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน และรถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน
3. มิติการพัฒนาการขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 69 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 36 โครงการ เช่น การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ. และการเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย
4. มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 26 โครงการ
5. มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคหรือ Aviation Hub ด้วยการยกระดับการให้บริการ 37 โครงการ