กระดานข่าว

กสิกรไทยเตือนรับมือนโยบาย Tariff สหรัฐฯ แนะเปิดตลาดลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ


07 กุมภาพันธ์ 2568
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์นโยบาย Tariff รอบใหม่ของสหรัฐ  เชื่อไทยรับผลกระทบหลังเกินดุลการค้าเป็นอันดับ10ของโลก แนะเปิดตลาดให้สหรัฐ ลดแรงกดดัน

459224_0.jpg


นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  กล่าวว่า  หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ความชัดเจนต่อนโยบายการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย America First ที่สหรัฐฯ จะนำผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง 

โดยจะเห็นได้ว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีการใช้ภาษีนำเข้า เป็น เครื่องมือในการเจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง ในประเด็นเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองและปัญหายาเสพติด  รวมถึงความต้องการขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐฯ อาทิ คลองปานามา กรีนแลนด์ และแคนาดา

ในแนวคิดของรัฐบาล ทรัมป์ วาระแรก ได้มีการขึ้นภาษีนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน และมีการเปลี่ยนสนธิสัญญา ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA(North American Free Trade Agreement) มาเป็น ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา หรือ USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) โดยสงครามการค้า มีผลลบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ น้อยกว่าประเทศอื่นที่ค้าขายกับสหรัฐฯ

สะท้อนจากแนวคิด ที่นาย Robert Lightizer ซึ่งเป็นมันสมองของการวางกลยุทธ์สงครามการค้ารอบแรก ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรจะมองจีนเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากๆ ไม่เป็นผลดีกับสหรัฐฯ ในระยะยาว เพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ จึงต้องการบรรลุเป้าการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน และลดการขาดดุลการค้า
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังต้องการให้มีการสร้างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์  และยังมีแนวคิดที่ว่า แม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ได้มีการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด   ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทย น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดังนั้น กลยุทธ์ของไทยในการรับมือคงต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ  นอกจากนี้ หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง  เฟดอาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่ม จากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้

“นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้น การสร้างความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจและการทหารให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรอง ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด”