รายงานพิเศษ : FM ผลงานปี 68 เติบโตโดดเด่น “ไก่แปรรูป” TOP 4 ส่งออก มูลค่าสูงสุดประจำปี 67
บมจ.ฟู้ดโมเม้นท์ (FM) รับอานิสงส์“ไก่แปรรูป”ติดอันดับ 4 ในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังได้รับผลดีจากการส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า ด้านแวดวงตลาดเงินคาดปี 68 มีแนวโน้มแตะ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรทั้งสิ้น 2,146,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 1,536,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.24% การนำเข้ามูลค่า 610,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.15% ส่งผลให้ไทยมีดุลการค้าสินค้าเกษตรเกินดุลถึง 926,663 ล้านบาท
ซึ่งสินค้าเกษตรที่มูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ข้าว มูลค่า 168,685 ล้านบาท ขยายตัว 39.24%
2. ทุเรียนสด มูลค่า 130,352 ล้านบาท หดตัว 4.57%
3. ยางธรรมชาติ มูลค่า 95,927 ล้านบาท ขยายตัว 54.33%
4. ไก่แปรรูป มูลค่า 87,009 ล้านบาท ขยายตัว 10.75%
5. อาหารสุนัขหรือแมว มูลค่า 79,071 ล้านบาท ขยายตัว 35.45%
หากกล่าวถึงการส่งออกสินค้าต้องนึกถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เพราะรายได้ของกลุ่มผู้ส่งออกจะเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทจะมีผลต่อการทำกำไรของผู้ประกอบการโดย “ณัฐพล ดุษฎีโหนด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ฟู้ดโมเม้นท์ (FM) ผู้นำการพัฒนาอาหารแปรรูปปรุงสุกจากเนื้อไก่ (CAV Products) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายกำลังการผลิต เพื่อป้อนสินค้าตามความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีจำนวนมากและตลาดมีการขยายตัวทุกปี โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศในกลุ่มประเทศยุโรปได้รับการตอบรับที่ดี ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายตลาดกลุ่มเอเชีย เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และ ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นและเมื่อไตรมาส 4/67 ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการตามแผนการขยายตลาดและขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทปีนี้ ส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา ซึ่งนายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน และHead of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าในอนาคตเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้ เนื่องจากดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าต่อจากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดว่าจะยังแข็งแกร่ง ทำให้Fedจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย โดยการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของFedอาจต้องรอถึงช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งความเสี่ยงจากมาตรการTariffsน่าจะยังอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังอ่อนค่าในกรอบ 33.85-34.35 ได้
ขณะที่ ttb analytics ระบุว่า ปี 68 เงินบาทน่าจะปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนทยอยกลับมาเคลื่อนไหวทิศทางแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 33.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยนโยบายของทรัมป์ทั้งหมด แต่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ค่าเงินผันผวนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากความเสี่ยงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น และศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้น จากนโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น