กระดานข่าว

EXIM BANK คาดส่งออกไทยปีนี้โต 2-3% เร่งเปิดตัวบริการใหม่ๆเน้น ESG


14 กุมภาพันธ์ 2568

EXIM BANK พาผู้ประกอบการไทยฝ่ามรสุม "ทรัมป์ 2.0" คาดส่งออกปีนี้โต 2-3%  เดินหน้าเป็น Green Development Bank ผลักดันและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ๆที่เน้น ESG

เอ็กซ์ซิม.jpg

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า "ยุคทรัมป์ 2.0" สถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

ซึ่งธนาคารคาดว่า การส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตได้  2-3% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 5% แม้จะมีความผันผวนจากค่าเงินบาท โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากการเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  โอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ แผงโซลาร์ โอกาสส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ การย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติเข้ามาในไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง และการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์)

สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลก ธนาคารเชื่อว่ายังมีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ รวมถึงภาคธุรกิจ ทำให้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ยังเพิ่มจำนวนขึ้นถึงกว่า 18,000 ฉบับในปัจจุบัน โดยทั่วโลกรวมทั้งไทย ยังต้องการเม็ดเงินสีเขียว (Climate Finance) อีกจำนวนมาก Climate Policy Initiative  ประเมินว่า Climate Finance โลกปี 2566 อยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี แม้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าความต้องการที่ประเมินว่าสูงถึงราว 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ในช่วงปี 2567-2573 เท่ากับว่าโลกยังต้องการ Climate Finance เพิ่มขึ้นราว 5 เท่า

ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK ก็ให้การสนับสนุน Climate Finance ของไทย และ EXIM BANK จะเดินหน้าต่อยอดความเชี่ยวชาญในฐานะ Green Development Bank เป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยสยายปีก สู่ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลให้ Portfolio ที่สนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับ 40% ของ Portfolio ทั้งหมด และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2570

ในปี 2568 EXIM BANK มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไทยผ่านความเชี่ยวชาญและพันธมิตร สู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) โดยจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการส่งออก และการลงทุน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) โดยให้สิทธิประโยชน์ และดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจ

โดยคำนึงถึง ESG บริการใหม่ของ EXIM BANK อาทิ บริการค้ำประกันหุ้นกู้ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ แต่ยังมี Credit Rating ที่ไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนสนใจ และเชื่อมั่นที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทำให้ Credit Rating ของหุ้นกู้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับของ EXIM BANK คือ AAA (กรณีค้ำประกัน 100%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ผู้ออกหุ้นกู้มี Cost Saving เมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ด้วย Credit Rating ของตนเอง ซึ่งช่วยให้สามารถออกหุ้นกู้ได้อายุยาวขึ้น และจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงสามารถมีฐานผู้ลงทุนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันได้

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หรือตราสารทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นต้น ปัจจุบัน EXIM BANK ได้รับความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.67 เป็นต้นมา

ในอนาคต EXIM BANK จะให้บริการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจร ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกในการระดมทุน และจัดหาเงินทุนได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน EXIM BANK กำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (จัดจำหน่ายตราสารหนี้)