จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TPS แนวโน้มธุรกิจรับผลบวก “บีโอไอ” ปั้นไทยเป็นฮับเทคฯขั้นสูง ลุ้นดันผลประกอบการเติบโตแกร่ง


17 กุมภาพันธ์ 2568

BOI พร้อมส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เชื่อปี68 ยอดเกิน 1 ล้านล้านบาท  สนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค ทั้งดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง ผลักดันผลงาน บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) โตในอัตราเลข 2 หลัก

TPS รายงานพิเศษ_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 68 ยังมีมูลค่าอยู่ในระดับเกิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนราวปีละ 6 แสนล้านบาท

เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการกีดกันทางเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งผลักดันให้นักลงทุนเร่งเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง โดยบีโอไอได้จัดเตรียมมาตรการที่จะเพิ่มโอกาสของไทยในการช่วงชิงการลงทุนไว้รองรับแล้ว

"เป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 1 ล้านล้านบาทไม่เกินความสามารถ เพราะเดิมที่ตั้งเป้าในช่วง 5 ปีจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 3 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 6 แสนล้านบาท  แต่ผ่านมา 2 ปีทำได้ 2 ล้านล้านบาทแล้ว "

สำหรับทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 บีโอไอจะเดินหน้าดึงการลงทุนเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง และเทคโนโลยีชีวภาพ 

ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง อย่างเกษตรและอาหาร พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว รวมถึงกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศทั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์กลางจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศ

โดยจะต้องเสริมความพร้อมและศักยภาพในหลาย ๆ ด้านที่เป็นจุดแข็งเดิม เช่น ความเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ มีห่วงโซ่การผลิตครบวงจร มีบุคลากรที่มีคุรภาพ การให้สิทธิประโยชน์ที่แข่งขันได้ สภาพแวดล้อมน่าอยู่ เป็นมิตรกับธุรกิจและต้นทุนประกอบธุรกิจที่เหมาะสม ตลาดมีศักยภาพสูง เป็นฐานขยายสู่ภูมิภาค

ขณะเดียวกันต้องสร้างจุดแข็งใหม่ เช่น การสร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การจัดหาพลังงานสะอาดที่มีราคาเหมาะสม การจัดเตรียมพื้นที่รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เหมาะสม การสร้างห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การเร่งขยาย FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่ เร่งพิจารณาออกมาตรการ Qualified Refundable Tax Credit (QRTC) เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Global Minimum Tax เพิ่มเติมจากมาตรการที่บีโอไอเตรียมไว้ และปฏิรูปกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

มาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล ส่งผลดีต่อธุรกิจของ บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) ผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ   ซึ่งผลงานในปี 2568-2569  “เมธี วิธวาศิริ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการ ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีมีแบล็กล็อคประมาณ  1.9 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 2 ปีนี้ คาดว่าจะมีส่วนผลักดันให้รายได้ในปีนี้ จะยังรักษาการเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลัก

เนื่องจากธุรกิจของบริษัทอยู่ในเมกะเทรนด์   และในปีนี้บริษัทมีความพร้อมประมูลงานภาครัฐและเอกชน และการที่รัฐบาลจะผลักดันเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ และพวกดาต้า เซ็นเตอร์  จะส่งผลบวกต่อบริษัท เพราะโครงการเหล่านี้ก่อให้เกิดความต้องการทางด้านไอทีในระดับที่สูง เช่น งานทางด้านเซิร์ฟเวอร์ งานกล้องวงจรปิดเป็นต้น แต่ยังไม่เห็นผลบวกในเร็วๆ นี้ อาจต้องใช้เวลากว่าโครงการจะเกิด

นอกจากนี้ ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) ผ่านบริษัทย่อยก็พบว่ามีความต้องการสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งเน้นงานทางด้าน maintenance หรือMA ให้มีสัดส่วนรายได้เพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ของรายได้รวม เนื่องจากพบว่ามีมาร์จิ้นที่สูงกว่างานโครงการ และเป็นรายได้กลุ่มประเภทรีเคอร์ริ่ง อินคัม ช่วยกระจายความเสี่ยงของฐานรายได้อีกด้วย

TPS