Talk of The Town

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผุดไอเดีย ชงกระทรวงคลังขอยกเว้นภาษี หนุนเสริมความแข็งแกร่งให้บจ.


17 กุมภาพันธ์ 2568

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯจะนำเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับกระทรวงการคลังพิจารณา ได้แก่เรื่องการยกเว้นการเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 3 ปีให้กับบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการจั๊มพ์พลัส (Jump+) ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าร่วมโครงการในเดือนพ.ค.นี้ เบื้องต้นคาดจะมีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการประมาณ 50 บริษัท

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผุดไอเดีย_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

สำหรับโครงการ จั๊มพ์พลัส (Jump+) คือการให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนิติบุคคลจากกำไรส่วนเกินของกำไรที่เคยทำได้ปกติ หลังเสนอแผนงานเพิ่มมูลค่า และสามารถสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ เช่น การสร้างมูลค่าธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่องจากแผนที่วางไว้ ซึ่งหากมีผลประกอบที่ดีขึ้นจะทำให้ 3 ปีหลังจากที่เข้าโครงการจั๊มพ์พลัส (Jump+) บริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรที่สูงขึ้น และจ่ายภาษีได้มากขึ้น

โดยหลักของโครงการประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ 1) Growth 2) Visibility 3) Incentive 4) Trust & Confidence โดยจะมี Incentive ที่ให้กับบริษัทที่ร่วมโครงการและบริษัทที่สามารถพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ อาทิ การสนับสนุนค่าที่ปรึกษาการเงิน และการโรดโชว์ ทั้งในและต่างประเทศ หรือการหารือแนวทางสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกำไรที่ทำได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ 

รวมไปถึงการยกเว้นภาษี ด้วยการสนับสนุนการทำ M&A หรือการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันได้ทั่วโลก 

ซึ่งรูปแบบการเตรียมนำเสนอกระทรวงการคลังคือการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่บริษัทจดทะเบียนเข้าไปทำดีลซื้อกิจการที่อาจมีการทำบัญชีสองเล่ม ให้ไม่ต้องยื่นภาษีย้อนหลัง เพื่อเป็นการลดอุปสรรคและกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนทำดีล M&A กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อหวังสร้างการเติบโตได้เร็วมากขึ้น

สำหรับประเด็นเรื่องโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อปรับแก้ไขกฎเกณฑ์ ด้วยการจัดตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เช่น การปลดล็อกการกำหนดสัดส่วนการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% และระยะเวลาการซื้อหุ้นโดยเบื้องต้นคาดว่าจะเร่งดำเนินการได้เร็ว เพราะไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย แต่ต้องแก้ไขเพียงกฎกระทรวงเท่านั้น