Talk of The Town

ช็อก! งบ “คิง เพาเวอร์” ปี 66 ขาดทุน 651 ล้านบาท แบกหนี้จ่ายอีก 4-5 พันลบ.ต่อไตรมาส


17 กุมภาพันธ์ 2568

เกาะติดสถานการณ์บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT โดยล่าสุด AOT ชี้แจงว่า มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด หรือ คิง เพาเวอร์ และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง

ช็อก งบ คิง เพาเวอร์_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

หากเข้าไปสำรวจผลประกอบการย้อนหลังของ คิง เพาเวอร์ พบว่า น่าสนใจอย่างมาก ในรายละเอียดรายงานของ AOT ระบุว่า คิง เพาเวอร์ ประสบกับปัญหาขาดทุน โดยในปี 2566 ขาดทุนถึงจำนวน 651,512,785 บาท ซึ่งได้พยายามดำเนินการในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน คิง เพาเวอร์ ก็ยังคงประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของ โควิด-19 หรือปี 2562 มีกำไรสุทธิ 756 ล้านบาท หลังจากนั้นปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 1,833 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ผลประกอบการยังขาดทุนต่อสูงถึง 2,814 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามในปี 2565 คิง เพาเวอร์ สามารถพลิกฟื้นฟอร์มได้อย่างโดดเด่น โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 3,751 ล้านบาท แต่พลิกกลับมาขาดทุนในปี 2566 ที่ระดับ 651 ล้านบาท 

ในรายละเอียดการชี้แจงต่อตลาดของ AOT ที่มีเรื่องของ คิง เพาเวอร์ ระบุว่า เมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่คิง เพาเวอร์ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ตามที่เคยประเมินไว้ รวมถึงความจําเป็นที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อการปรับปรุง ก่อสร้าง ติดตั้งระบบต่าง ๆภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ., ทภก. และ ทดม. เป็นผลให้ คิง เพาเวอร์ ประสบปัญหาสภาพคล่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกเหนือจากนั้น การที่สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม 

รวมถึงการทยอยครบกำหนดชำระหนี้ต่าง ๆกับสถาบันการเงิน และค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ครบกำหนดชำระให้แก่ ทอท. (งวดปกติและงวดที่ถึงกำหนดชําระจากการเลื่อนชําระ) และการชําระค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้กับ Supplier (ซึ่งเป็นหัวใจหลักเพื่อให้มีสินค้าไว้จําหน่าย) ทำให้สถานะทางการเงินของ คิง เพาเวอร์ ที่มีภาระต้องชําระค่าภาระต่าง ๆ เกิดการกระจุกตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก

KPD มีภาระต้องชำระหนี้กว่า 4-5 พันล้านบาท/ไตรมาส

ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมิน AOT มองสัญญาที่เป็นประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่สัมปทาน Duty Free สุวรรณภูมิ

โดย คิง เพาเวอร์ได้สัมปทานบริหารพื้นที่จาก AOT 4 สัญญา ได้แก่ (1) Duty Free สุวรรณภูมิ (2) Duty Free ภูเก็ต/เชียงใหม่/หาดใหญ่ (3) พื้นที่เชิงพาณิชย์ สุวรรณภูมิ และ (4) Duty Free ดอนเมือง 

ทั้งนี้คาดว่าสัญญาที่เป็นประเด็น คือ สัญญาสัมปทาน Duty Free สุวรรณภูมิที่มี Minimum Guarantee กว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า King Power Duty Free (KPD) มีผลขาดทุน -652 ล้านบาท ในปี 2566 ขณะที่ King Power Suvarnabhumi (KPS) มีกำไร 627 ล้านบาทในปี 2566

จาก AOT มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเลื่อนจ่ายหนี้ในช่วงเดือน พ.ย.2566-เม.ย.2567 ออกไป 6 เดือน และสามารถแบ่งชำระได้ 12 งวด จึงทำให้ในงวดไตรมาส 3/67-24-4/68 ผู้ประกอบการมีภาระต้องชาระทั้ง หนี้ปัจจุบัน และ หนี้เดิมที่เลื่อนออกมาด้วย

ประเมินช่วงไตรมาส 4/67-3/68 KPD มีภาระต้องชำระหนี้กว่า 4-5 พันล้านบาท/ไตรมาส ได้แก่หนี้ตามงวดปกติ 3-3.5 พันล้านบาท และ หนี้เดิม 1-1.5 พันล้านบาท/ไตรมาส จึงทำให้ KPD มีภาระค่อนข้างหนักในช่วงดังกล่าวและเกิดประเด็นทางด้านสภาพคล่องขึ้น

มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดการประมูลใหม่

คาดการฟื้นตัวต่อเนื่องของปริมาณผู้โดยสารในปี 2567 เพิ่ม 19%  เป็น 119 ล้านคน และปี 2568 เพิ่ม 18% เป็น 140.8 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วน 99% to pre COVID) หนุนให้ KPD มีความสามารถในการชาระหนี้ดีขึ้น และหากผ่านช่วง ไตรมาส 4/67 - 3/68 ที่มีภาระหนี้สูงกว่าปกติไปได้ เชื่อว่าสภาพคล่อง KPD จะยิ่งคล่องตัวมากขึ้น 

ทางด้านการตั้งสำรองหนี้มองว่ามีความเสี่ยงต่ำเช่นกัน เนื่องจากตามสัญญา AOT กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องวาง Bank Guarantee ให้กับ AOT (AOT ไม่มีการเปิดเผยระยะเวลา Bank Guarantee สัญญาปัจจุบัน แต่บอกว่าหนี้ค้างจ่ายปัจจุบันยังไม่เกินระยะเวลา Bank Guarantee ขณะที่พบว่าสัญญาสัมปทานก่อนหน้าระยะเวลา Bank Guarantee อยู่ที่ 2 ปี และคาดหนี้ค้างจ่าย ณ สิ้นไตรมาส 1/68 มีระยะเวลาอยู่ที่ราว 3-6 เดือน)

ประเมินกรณี Worst case หากมีการประมูลใหม่และ Minimum Guarantee (MG) กลับไปเท่ากับสัญญาก่อนหน้า (ราว 4,900 ล้านบาท/ปี) จะส่งผลทำให้ราคาเป้าหมาย มี Downside -28% หรือเทียบเท่ามูลค่าพื้นฐานเท่ากับ 46.18 บาท ใกล้เคียงราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ก.พ.) ที่ 47 บาท และทุกๆ บวก 10% ของ MG ที่เพิ่มจากสัญญาก่อนหน้าจะเป็นบวกต่อมูลค่าพื้นฐานต่อหุ้น 0.90 บาท (vs สัญญาสัมปทาน ปัจจุบัน MG อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี หรือเพิ่มขึ้นจากสัญญาก่อนหน้าราว 215%)

ดังนั้นราคาหุ้น AOT ถูกกดดันจาก Sentiment ลบความเสี่ยงหากต้องประมูลสัมปทาน Duty Free สุวรรณภูมิใหม่ และได้ MG ต่ำกว่าสัญญาปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตามประเมินมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการประมูลใหม่ และกรณี Worst case หากประมูลใหม่แล้ว MG กลับไปเท่ากับสัญญาสัมปทานก่อนหน้ามูลค่าพื้นฐานจะอยู่ที่ 46.18 บาท ใกล้เคียงราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ราคาเป้าหมายมีโอกาสเกิด Upside 6.75 ถึง 13.75 บาท/หุ้น จากการเก็บค่า PSC transit/transfer และการขึ้นค่า PSC ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีปฏิทิน 2568 (คาดผลการศึกษาแล้วเสร็จกลางปี 2568) 

จึงมองราคาหุ้น AOT ที่ลดลงจากความกังวลข้างต้นเป็นโอกาส “ทยอยสะสม” หุ้น AOT ที่เป็นผู้ให้บริการสนามบินหลักของ ประเทศซึ่งมีโอกาสเติบโตตามอุตฯ ท่องเที่ยวไทย

AOT