จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : SAFE ลุยใช้เทคโนโลยีใหม่ เพิ่มอัตราความสำเร็จการตั้งครรภ์ ดันผลประกอบการปีนี้เติบโต 20%


17 กุมภาพันธ์ 2568

SAFE ลุยใช้เทคโนโลยีใหม่_S2T (เว็บ) แก้ไข.jpg

โครงสร้างประชากรของไทยที่ไม่สมดุลระหว่างจำนวนผู้สูงวัยและเด็กที่เกิดใหม่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งหนึ่งในแนวทางเพิ่มประชากร รัฐบาลควรสนับสนุนการมีบุตรของกลุ่มคนที่มีความพร้อมแต่มีบุตรยาก โดยเฉพาะการออกมาตรการดึงดูดความสนใจทั้งด้านภาษีและค่าใช้จ่าย 

กระทรวงมหาดไทยเปิดเผย สถิติจำนวนผู้สูงอายุ พ.ศ. 2567 พบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยมจำนวน 20.70% จากประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society เรียบร้อยแล้ว

โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีมากที่สุดคือ กลุ่มผู้อายุวัยต้น (60-69 ปี) อยู่ที่ 59.3% รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) อยู่ที่ 29.8% และกลุ่มที่มีน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ 10.9%

ขณะที่นายวราวุธ  ศิลปะอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ  ซึ่งปัญหาโครงสร้างประชากรเป็นปัญหาที่จะทำให้ไทยเผชิญวิกฤติในอนาคตอันใกล้  โดยปี 2566 มีผู้สูงอายุ 60 ปี กว่า 13 ล้านคน  ขณะที่เด็กแรกเกิดไม่ถึง 5 แสนคน และปี 2565-2566 ประชากรไทยลดลงกว่า 35,000 คน  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คาดว่าประชากรไทยที่มี 66 ล้านคน อีกไม่เกิน 50 ปี จะลงไปเหลือ 30 กว่าล้านคน

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเดือน ม.ค. 2567 ไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี รวม 13.2 ล้านคนคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด โดยแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576 และเพิ่มขึ้นเป็น 31% (1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2583 โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยส่งผลต่อโครงสร้างประชากรที่มีวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง

การเกิดใหม่ของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทยลดลงจาก 2.0 ในปี 2538 เหลือ 1.53 ในปี 2563 และคาดว่าเหลือ 1.3 ในปี 2583   

แนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น  โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่มีความพร้อมแต่มีปัญหาในเรื่องการมีบุตรยาก  ซึ่งจะสนับสนุนธุรกิจของ บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป (SAFE)  ผู้ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากครบวงจรด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์รวมทั้งให้บริการห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์  

โดย บล.กรุงศรีวิเคราะห์ทิศทางปี 68  คาดบริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน เติบโตดีขึ้นตามรายได้ให้บริการ เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน มีปัจจัยบวก  1) เทคโนโลยีใหม่ PGT-A seq ให้บริการเต็มปี มีจุดเด่นช่วยเพิ่มอัตราสำเร็จการตั้งครรภ์ และค่าบริการถูกลง 

2) ปีนักษัตร “มะเมีย” ในปี 2026 จะช่วยกระตุ้นความต้องการมีลูกได้บ้าง 3) ขยายตลาดในอินโดนีเซีย, บังคลาเทศ ประกอบกับคาดมี Economies of scale ของการใช้บริการและตรวจพันธุรกรรมตัวอ่อนเพิ่มขึ้น ทำให้คาด Gross margin ดีขึ้นเป็น 56.3% จาก 54.8% ในปี 67

ดังนั้นแนะนำ Buy สำหรับ SAFE ประเมินราคาเป้าหมายปี 68 ใหม่ 15.20 บาท (เดิม 16.30 บาท) วิธี DCF WACC 9.7% เรามองเป็นโอกาสลงทุน เนื่องจากคาดปี 68 กำไรสุทธิเติบโตดีขึ้น ประกอบกับคาดมี Net margin 21.5% ดีขึ้นจาก 20.1% ในปี 67 จาก Economies of scale ของจำนวนรอบเก็บไข่และฝั่งตัวอ่อนเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นซื้อขาย PE ปี 25F ที่17 เท่า เทียบเท่า Forward PE ต่ำกว่า -2.0SD

ส่วนผู้บริหาร นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป (SAFE)  มั่นใจแนวโน้มผลงานปี 2568 ยังเติบโตได้ดีจาก  1.ปัจจัยบวกปีนักษัตร “มะเมีย” ในปี 2569 เร่งทำ IFV ในปี 2568 

2.กฎหมายสมรสเท่าเทียมฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น  3.ดีล M&A เพื่อมาสร้าง Synergy กับธุรกิจบริษัท รวมถึงมีบริษัทย่อยอย่างบริษัท เน็ก เจนเนอร์เรชั่น จีโนมิค (NGG) ที่ให้บริการการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและทารกในครรภ์ และให้บริการด้านห้องปฏิบัติการ สนับสนุนผลงานของบริษัทฯให้เติบโต โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ที่ 20% เทียบปีที่ผ่านมา