รายงานพิเศษ : HFT ทุ่มงบ 100 ลบ. ลงทุนเครื่องจักร ผลิตสินค้ารับกระแสเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หวังตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
บมจ.ฮั้วฟงรับเบอร์ (ไทยแลนด์) (HFT) ปรับกลยุทธ์รับกระแสผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทุ่มงบ 100 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรใหม่ผลิตยางรถจักรยานแบบพรีเมียม หนุนรายได้ปี 68โต 5-10%
การผลิตและการจำหน่ายรถจักรยานอยู่ระดับที่สูงมากอีกครั้งในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าจักรยานได้รับความนิยมมาก โดยภาพรวมแล้วจำนวนจักรยานและจักรยานไฟฟ้าในเยอรมนียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 คิดเป็นจำนวน 84 ล้านคัน (ปี 2565: 82.8 ล้านคัน) โดยมีสัดส่วนของจักรยานไฟฟ้าประมาณ 11 ล้านคัน
นอกจากการซื้อจักรยานใหม่เพื่อทดแทนคันเก่าแล้ว ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในการซื้อจักรยานคันที่สองหรือคันที่สาม เพื่อวัตถุประสงค์ในการพักผ่อนหย่อนใจ กีฬา หรือการขนส่ง เป็นต้น จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมจักรยานเยอรมัน (ZIV) ระบุว่า สำหรับอุตสาหกรรมจักรยานและจักรยานไฟฟ้ายังไม่เข้าสู่ภาวะตลาดอิ่มตัว
โดยจักรยานไฟฟ้า (e-bikes) เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจักรยานในปี 2566 นับว่าเป็นครั้งแรกที่จักรยานไฟฟ้า (e-bikes) มียอดขายมากกว่าจักรยานทั่วไป ทำให้จักรยานไฟฟ้า (e-bikes) ครองส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 53 มียอดขาย 2.1 ล้านคัน (2565: คิดเป็นร้อยละ 48) และจักรยานทั่วไปมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 47 มียอดขาย 1.9 ล้านคัน (2565: คิดเป็นร้อยละ 52)
สำหรับปี 2566 การจำหน่ายจักรยานในร้านค้าปลีกเฉพาะทางนั้นเป็นที่น่าจับตามองจากส่วนแบ่งตลาดที่สูงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77 ขณะที่ Hypermarket ร้าน DIY และ Discount supermarkets ยังคงสูญเสียส่วนแบ่งตลาด โดยมีส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียงร้อยละ 1
ยอดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมจักรยานเยอรมันยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้าจักรยานและจักรยานไฟฟ้า รวม 7.06 พันล้านยูโร (ปี 2565: 7.36 พันล้านยูโร; ปี 2564: 6.56 พันล้านยูโร; ปี 2562: 4 พันล้านยูโร) ยังสะท้อนให้เห็นในราคาขายอีกด้วย
โดยค่าเฉลี่ยราคาจักรยานจากทุกช่องทางการขาย เช่น ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง ออนไลน์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และอื่นๆ ในปี 2566 คิดเป็น 470 ยูโร (ปี 2565: 500 ยูโร) และสำหรับจักรยานไฟฟ้าคิดเป็น 2,950 ยูโร (ปี 2565: 2,800 ยูโร) ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยข้างต้นต้องคำนึงถึงโดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของจักรยานบรรทุกสินค้าเช่นกัน เนื่องจากจักรยานบรรทุกสินค้ามีราคาแพงกว่าจึงส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยสูงขึ้น
ตลาดรถจักรยานในต่างประเทศที่ได้รับความนิยม ส่งผลดีต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางล้อรถซึ่งบมจ.ฮั้วฟงรับเบอร์ (ไทยแลนด์) (HFT) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายยางนอกและยางในสำหรับรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ และรถขนส่งขนาดเล็ก
“จวง จื้อ เหยา” Vice President บมจ.ฮั้วฟงรับเบอร์ (ไทยแลนด์) (HFT) ระบุว่า ในปี 68 บริษัทฯ ยังคงเน้นกลยุทธ์ขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้ดี และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มี มาร์จิ้นสูง รวมทั้งบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 5-10% เมื่อเทียบจากปีก่อน
โดยบริษัทฯ ได้วางงบลงทุนปี 68 สำหรับติดตั้งเครื่องจักรเพื่อผลิตยางรถจักรยานแบบพรีเมียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประมาณ 100 ล้านบาท ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถไฟฟ้า (EV) และอีกประมาณ 200 ล้านบาท, สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์ฟาร์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงานเพิ่มอีก 10 เมกะวัตต์ (MW) โดยจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับบริษัทฯ ได้ราว 20 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 20% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
"คาดว่าผลประกอบการในปี 68 จะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายยางรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อยางรถจักรยานที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าในยุโรปและอาเซียน รวมทั้งยอดขายยางรถกอล์ฟที่มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน อีกทั้งยังโฟกัสไปที่การขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มยอดขาย โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มเติมในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลางแอฟริกา และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่ดี จึงมั่นใจได้ว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง"