Fund / Insurance

สมาคมประกันชีวิต คาดปี 68 โต 2-3% “สังคมสูงวัย-เทคโนโลยีหนุนการซื้อขาย”


19 กุมภาพันธ์ 2568

สมาคมประกันชีวิตไทยคาดปี 68 ธุรกิจประกันชีวิตเติบโต 2-3% หลังผู้บริโภคหวั่นเงินเฟ้อทางการแพทย์พุ่ง – ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย 

สมาคมประกันชีวิตไทย.jpg

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย คาดการณ์ว่า ปี2568 อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วง 2-3%  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8 – 10% โดยบางปีสูงมากถึง 15% และการขยายช่วงอายุการรับประกันสุขภาพออกไปจนถึง 80 ปี จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้การประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตต่อไปได้ และจะมีผลขยายไปถึงการประกันชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) ที่เป็นสัญญาหลักด้วย 

อีกทั้งยังมีการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนและมาตรการจากภาครัฐ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจผ่านโครงการนวัตกรรมต่างๆ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และการดำเนินงานปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันและผสานรูปแบบการขาย ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยจนสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันอย่างแข็งขันในทุกด้านของธุรกิจผ่านสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

แต่ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงมีปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างสภาวะเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก และเศรษฐกิจภายในประเทศไทยที่มีการเติบโตแบบหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 17 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568  รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าโลกหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังไม่ยุติ ก่อให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

ส่วนภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2567 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 653,923 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.23% เมื่อเทียบกับปี 2566 แบ่งเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 184,331 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.28% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 469,592 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.21% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83%

โดยจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 346,791 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.32% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 53.03%

2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 245,498 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.67% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 37.54%

3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 34,484 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 11.93% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน  5.27%

4. การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 12,910 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 5.49% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 1.97%