จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : WINMED ธุรกิจกำลังได้ประโยชน์ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขหนุนไทย เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์


20 กุมภาพันธ์ 2568

กระทรวงสาธารณสุข วางกลยุทธ์ปี 68 มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ ยกระดับสู่ Medical & Wellness Hub  หนุนไทยศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์  ส่งผลดีต่อธุรกิจ บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) ฐานะผู้นำเข้าและจำหน่ายเครื่องและชุดอุปกรณ์

WINMED ธุรกิจกำลังได้ประโยชน์_รายงานพิเศษ S2T (เว.jpg

โดยปี 2568 กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและชีวการแพทย์ โดยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวผ่าน 7 นโยบายสำคัญ คือ

1.การจัดตั้ง "สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.)" เป็นหน่วยงานระดับกรม 

2.ยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย โดยพัฒนาหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ 

3.ยกระดับสมุนไพรไทย/ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ" 

4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพราว 1.42 ล้านล้านบาท โดยเน้นประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ จับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาลในการให้บริการแพคเกจสุขภาพ พัฒนาระบบเอเยนซีขายแพคเกจสุขภาพ เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์และแพทย์ไทยในโรงแรม ซึ่งมีการนำร่องแล้วคือโมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และ Phuket Wellness Sandbox

5.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้านบาท เป็นการนำเข้า 9 หมื่นล้านบาทและส่งออก 1.18 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ซับซ้อน ได้แก่ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา และกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย เบื้องต้นจะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย เร่งรัดกระบวนการอนุมัติอนุญาตและทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน และใช้วิธีจับคู่ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ

6.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ซึ่งทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกำลังผลักดันศูนย์กลาง ATMPs ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลก ภายในปี 2570 เนื่องจากเอกชนมีความสนใจและต้องการผลักดันอุตสาหกรรม และจะหาทางออกเพื่อลดข้อกังวลของสภาวิชาชีพในการใช้ผลิตภัณฑ์ ATMPs

7.การดูแลบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty) โดยจะขับเคลื่อน 4 เรื่อง คือ เวชศาสตร์ความงาม เน้นตรวจสอบแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบเวชกรรมในไทย รวมถึงแพทย์เถื่อน คลินิกเถื่อน ยกระดับคลินิกความงามให้มีมาตรฐานระดับสากล เปิดหลักสูตรอบรมแพทย์เวชปฏิบัติความงามเป็นหลักสูตรกลางของประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหัตถการเสริมความงาม และพัฒนาระบบเอเยนซีให้สามารถโฆษณาเชิญชวนชาวต่างชาติมารับบริการได้, จิตเวชและพฤติกรรมบำบัดสำหรับชาวต่างชาติ, การอุ้มบุญและการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

"ความสามารถของกระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบไปด้วย 7 นโยบายหลักในสาขาเป้าหมายต่าง ๆ มีแนวโน้มช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในปี 2568 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 6.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.39% ของ GDP" รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าว

ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปี 2566 ธุรกิจ Health & Wellness มีรายได้รวม 357,988.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5,464.77 ล้านบาท (ปี 2565 รายได้รวม 352,523.51 ล้านบาท) โดยธุรกิจนี้ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub เช่น การเพิ่มศักยภาพด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ การชักชวนหรือให้สิทธิชาวต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทย รวมทั้งการผสมผสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยลงไป สอดคล้องกับข้อมูลของ Krungthai COMPASS ที่แสดงว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical & Wellness มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุดที่ 99,770 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและผู้คนเริ่มหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการในธุรกิจนี้เพิ่มสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในส่วนของนโยบายการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ จะส่งผลดีต่อธุรกิจของ บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) ฐานะผู้นำเข้าและจำหน่ายเครื่องและชุดอุปกรณ์ สำหรับการเก็บ การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และการบำบัดรักษาทางการแพทย์ 

ซึ่งสะท้อนจากผลงานในไตรมาส 4/67  ที่WINMED ยังชนะงานประมูลอย่างต่อเนื่อง  โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “นันทิยะ ดารกานนท์” ระบุบริษัทฯชนะงานประมูลเครื่องคัดแยก และเพาะเลี้ยงเซลล์ในระบบปิดอัตโนมัติ สำหรับรักษามะเร็งเลือดให้กับหน่วยงานภาครัฐ มูลค่า 16 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ชนะการประมูลเครื่องเขย่าโลหิต เครื่องชั่ง และเขย่าเกล็ดเลือดพร้อมระบบมาแล้ว มูลค่ารวมกว่า 24.88 ล้านบาท

"แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากโครงการ Winmed Cares มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี อีกทั้งโครงการต่างๆ ของ WINMED ก็อยู่ในช่วงขาขึ้นจากการตรวจคัดกรองและให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านธนาคารโลหิต และแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของเซลล์และโมเลกุล ทำให้มั่นใจได้ว่า ภาพรวมผลการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้" นายนันทิยะกล่าว