กระดานข่าว

แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดให้น้ำหนัก 80% กนง.คงดบ. ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นต่อเนื่องคาดโต 2.8%


24 กุมภาพันธ์ 2568

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ให้น้ำหนัก 80% กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยในการประชุม 26 ก.พ. นี้  มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวต่อเนื่องโต 2.8% จับตาทิศทางการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดรับมีผลต่อเศรษฐกิจไทย  

42F13893-1ECA-4F96-8AAB-3C7C489CE39C_11zon.jpg

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดการณ์ว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่  26 ก.พ.68 นี้ คณะกรรมการน่าจะมีมติเอกฉันท์ 7ต่อ0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่2.25%  เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก  โดยธนาคารให้น้ำหนักการคงอัตราดอกเบี้ยที่80% ส่วนอีก20% เป็นน้ำหนักที่อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ 

“กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการประชุมในเดือนมิ.ย. หรือหลังจากนั้น Fed มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ล้วนเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย”

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ธนาคารเชื่อว่า ยังค่อยๆฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2568 โต2.8% สูงกว่าปี67 ที่ขยายตัว 2.5% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่  0.9% (เทียบกับ 0.6% ในปี 2567) สอดคล้องกับมุมมองการเติบโตที่เป็นไปอย่างเฝ้าระวัง   ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.3% (เทียบกับ 0.4% ในปี 2567) โดยการฟื้นตัวของภาคบริโภคที่มีไม่มาก อาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงกลางปี ก่อนจะเร่งตัวอีกครั้ง  ธนาคารยังคงประมาณการเงินบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ที่ 4% ของจีดีพี (เทียบกับ 2.3% ในปี 2567) 

นอกจากนี้ เรายังคงเฝ้าระวังเรื่องการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าตัวเลขล่าสุดจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม เพราะคาดว่าผลกระทบจากสงครามการค้าจะเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่2 ของปีนี้เป็นต้นไป 

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท  ดร.ทิม เชื่อว่าเงินบาทยังมีความผันผวน โดยเมื่อต้นปีเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาค แต่วันนี้เงินบาทอยู่ที่ ประมาณ 33.50 บาท  แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค  ดังนั้นปีนี้จะเป็นปีที่เงินบาทมีความผันผวนมาก ทั้งจากราคาทองคำที่ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง  การท่องเที่ยวที่เติบโตดี  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

“สำหรับปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แม้ปัจจุบันรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น มีการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง  แต่ยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวในทุกไตรมาส” ดร.ทิมกล่าว