จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : SOLAR รับอานิสงส์ “รัฐ-สถาบันการเงิน” หนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด มุ่งสร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจ


25 กุมภาพันธ์ 2568

กระทรวงพลังงานเปิดแผนปี 68 เดินหน้าผลักดันพลังงานสะอาด ขณะที่กสิกรไทยวิเคราะห์การผลิตไฟฟ้าชีวมวลและแสงอาทิตย์ ยังเป็นที่นิยม  สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) ให้ต่อเนื่องและแข็งแกร่ง   

SOLAR รายงานพิเศษ_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในปี 68 กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย โดยมุ่งเน้น "ประชาชนและประเทศ" เป็นสำคัญ ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย

1) ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน

2) พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ

3) พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกระทรวงได้วางกรอบ 5 นโยบายที่สำคัญ  เพื่อให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม  ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล

2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์

3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5

5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองในปี 2568 แนวโน้มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยมีความต้องการรับซื้อเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผู้ประกอบการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ ไฟฟ้าชีวมวลและแสงอาทิตย์ตามลำดับ  มีสัดส่วนรวมกันเป็น 78% ของไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ภาครัฐ และ 96% ของไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ภาคเอกชน

โดยพลังงานแสงอาทิตย์ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากตามเป้าหมายในร่าง AEDP3 พ.ศ.2567-2580 ที่ตั้งเป้าให้ 68% ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปี 2580 มาจากพลังงานแสงอาทิตย์  และภาพรวมรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังคงเติบโต โดยได้รับอิทธิพลหลักมาจากไฟฟ้าชีวมวลและแสงอาทิตย์ เนื่องจากเป็นสัดส่วนหลักของไฟฟ้าที่จำหน่ายในตลาดพลังงานหมุนเวียนทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังเป็นที่นิยม ส่งผลดีต่อธุรกิจของ บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR)  ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่าง ๆ และให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ       

ล่าสุด บมจ.SOLAR เป็นผู้ชนะการเสนอราคาโครงการแม่เมาะโซลาร์ฟาร์ม ระยะที่ 1 จังหวัดลำปาง มูลค่า 937 ล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) 

ขณะที่การเข้าซื้อหุ้นบริษัท ซิมเมอร์มานน์ ในสัดส่วน 40%  จะสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ในอนาคตในฐานะที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังได้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินที่พร้อมจะอนุมัติสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ลูกค้าที่ติดตั้ง Solar Roof  เช่น ธอส. ได้จัดทำสินเชื่อ "Solar Roof ปี 2568" ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ 3.90% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา เท่ากับ MRR (อัตราดอกเบี้ย MRR  ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.545% ต่อปี) ระยะเวลาการกู้สูงสุด 10 ปี กรณีกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระเงินงวด 3 ปีแรก เริ่มต้นเพียงเดือนละ 1,100 บาท เท่านั้น 

ดังนั้นเทรนด์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  จึงเป็นโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจของ SOLAR  ที่จะสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง