Mr.Data
ภาพของการไหลลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยไปทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 6 ปี แถว 1,157.96 จุด (13 มี.ค. 68) จากความกังวลสงครามการค้า รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่เกรงว่าจะถดถอย และแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
กดดันผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยติดลบต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 โดยผลตอบแทน SET Index ตั้งแต่ต้นปี-13 มี.ค.68 ติดลบ 17.15% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 30,652.24 ล้านบาท
...จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า หุ้นที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุดในรอบ 1 ปี
พบว่า บมจ.แคล-คอมพ์อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อีเล็คโทรนิคส์ในรูปแบบของ Electronics Manufacturing Services (EMS) โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก 2 ประเภทคือ อุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยให้ผลตอบแทนสูงถึง 132.42% (เทียบราคาปิดวันที่ 13 มี.ค.68 อยู่ที่ 6.20 บาท
ขณะที่ย้อนหลัง 1 เดือน ราคาหุ้น CCET ปรับตัวลดลง 22.01%
อย่างไรก็ตาม มุมมองของโบรกเกอร์ ยังคงแนะนำ "ซื้อ" และมองว่าเป็นโอกาส "สะสม"
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" หุ้น CCET ราคาเป้าหมาย 9.91 บาท อิงจาก DDM และยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม ETRON ของไทย แม้ราคาหุ้นจะปรับลดลง จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของสงครามการค้า (CCET จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มภาษีศุลกากรของสหรัฐฯต่อจีนและเวียดนาม) และความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของการเติบโตใน AI
"เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนประมาณการกำไรหลักปี 68/69 ทำให้มองว่าราคาหุ้นที่ลดลงถือเป็นโอกาสสะสม โดยราคาเป้าหมายสะท้อน P/E ปี 68 ที่ 28.2 เท่า ซึ่งเท่ากับ +0.5SD ของค่าเฉลี่ย 3 ปี CCET มีแนวโน้มยอดขายเติบโตแข็งแกร่งในปี 68 จากโรงงานใหม่ 4 แห่งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว (เพิ่มกำลังการผลิต 87%) เราคาดว่ากำลังการผลิตใหม่ 25% มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าในปี 68"
นอกจากนี้ ยังมีอัพไซด์ต่อกำไรจาก 1) โรงงานใหม่ในบราซิล ซึ่งจะเปิดในช่วงครึ่งปีแรก 68 (เร็วกว่ากำหนดเดิมในครึ่งปีหลัง 68) , 2) คำสั่งซื้อเพิ่มเติมในกำลังการผลิตใหม่ และ 3) ต้นทุนที่ลดลงจากการใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการทำข้อตกลง MOU ร่วมกับ Delta Electronics PCL
"เราคาดว่ากำไรหลักปี 68 ของ CCET จะเติบโต 10% YoY สู่ระดับ 3.7 พันล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงงานใหม่ในมหาชัย และเพชรบุรี CCET มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าสำหรับกำลังการผลิตใหม่ประมาณ 25% (กำลังการผลิตใหม่รวมประมาณ 278,000 ตร.ม.) และจะทยอยเพิ่มการผลิตตลอดปี 68 โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1/68
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ของมูลค่าหุ้น CCET พบว่า มูลค่าที่เป็นไปได้อยู่ที่ 13.40 บาทต่อหุ้น หากบริษัทสามารถเพิ่มลูกค้าใหม่ได้ในปี 69-70 และบรรลุอัตราการใช้กำลังการผลิต (U-rates) 80% ในโรงงานใหม่ภายในปี 71
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ CCET ในปี 2567 มีกำไรสุทธิ 2,603 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.25 บาท เพิ่มขึ้น 129% เทียบกับปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,116 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.17 บาท
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.68 มีมติให้จ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.13 บาท วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) 20 มี.ค. 2568 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 19 มี.ค. 2568 วันที่จ่ายปันผล 20 พ.ค. 2568 จ่ายปันผลจาก งวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567
ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้อง SET Index ที่ทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบเกือบ 6 ปี
"เจี๋ย ลี่ ซุย" ประธานกรรมการ CCET ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยวันที่ 3 มี.ค.68 ซื้อ 1,000,000 หุ้น ราคาเฉลี่ย 6.10 บาท วันที่ 4 มี.ค.68 ซื้อ 3,000,000 หุ้น ราคาเฉลี่ย 6.10 บาท วันที่ 12 มี.ค.68 ซื้อ 3,000,000 หุ้น ราคาเฉลี่ย 6 บาท
...ขณะที่กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง ซื้อหุ้น CCET เข้าพอร์ต มูลค่า 445.41 ล้านบาท (มูลค่าราคาตลาด ณ วันที่ 30 ธ.ค. 67)
ล่าสุด บริษัทฯเผยยอดขายรายเดือนประจำเดือนก.พ.68 จำนวน 324,200 พันเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.8% YoY และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 68 มียอดขายรวม 691,150 พันเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.3% YoY
...หากเทียบราคาหุ้นในกระดาน และราคาเป้าหมายแล้ว CCET ถือว่ามีความน่าสนใจ ในฐานะหุ้นเด่นในกลุ่ม ETRON ของไทย ที่มีทั้ง Growth+Dividend เป็นหุ้น "หลุมหลบภัย" ในเวลานี้ ได้ดีเลยทีเดียว!