Talk of The Town

ตลาดหลักทรัพย์จี้ SABUY แจงเหตุสินค้าร่องหนกว่า 215 ลบ. วิธีจัดการหลังโดนฟ้องจากการเบี้ยวหนี้


27 มีนาคม 2568

จากกรณีที่ ผู้สอบบัญชีพบว่ามีทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือสูญหายรวม 215 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบันทึกค่าความเสียหายดังกล่าวในงวดไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินของบริษัท 114 ล้านบาท (53%) ของ PTECH 89 ล้านบาท (41%) และที่เหลือเป็นของบริษัทย่อยอื่น ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก

ตลาดหลักทรัพย์จี้ SABUY_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

เดือนตุลาคม 2567 บริษัทซื้อบจก. ลอคบอกซ์ กรุ๊ป (LOCKBOX) และบจก. ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส (LOCKVENT)ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ ในราคา 360 ล้านบาท โดยมีความนิยม 257 ล้านบาท (71% ของมูลค่าซื้อ)ซึ่งการประเมินมูลค่ายุติธรรมยังไม่แล้วเสร็จ อาจมีการปรับปรุงมูลค่าในอนาคต

บริษัทมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 6,238 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,283%) มีขาดทุนสะสม 8,152 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,103%) รวมทั้งบริษัทถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแห่งจากการผิดนัดชำระหนี้ สรุปสาเหตุสำคัญที่บริษัทขาดทุนสูงมาก ดังนี้

1.ผลกระทบจากการลงทุนใน TSR AS PTECH และบริษัทอื่น 5,731 ล้านบาท 2. ขาดทุนจากการวัดค่าสินทรัพย์ทางการเงิน 111 ล้านบาท 3. ขาดทุนจากการด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาทางธุรกิจ 416 ล้านบาท  

ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ SABUY ชี้แจงข้อมูลดังนี้

1. กรณีทรัพย์สินสูญหาย อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรอบเวลาในการตรวจสอบเชิงลึกและผลการตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขระบบควบคุมภายในเพื่อดูแลทรัพย์สินและมาตรการตรวจนับทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก

2. กรณีซื้อกิจการให้เช่าตู้ล็อดเกอร์ อธิบายกรอบเวลาของการประเมินราคาทรัพย์สินแล้วเสร็จและการประเมินความเสี่ยงที่อาจด้อยค่าเงินลงทุนและค่าความนิยมของธุรกิจ

3. แนวทางจัดการกรณีถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชำระหนี้ ความคืบหน้าการเจรจาและแนวทางการติดตามหนี้กับ TSR รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงกรณีอาจจะไม่ได้รับชำระหนี้

4.แนวทางดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต เนื่องจากมีการด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาธุรกิจหลายรายการ รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง พร้อมอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขาดทุนจากการวัดค่าสินทรัพย์ทางการเงิน

5. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ (1) ความเพียงพอและเหมาะสมของระบบควบคุมภายในของกลุ่มบริษัทจากกรณีในข้อ 1. รวมทั้งกลไกการติดตามดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบและมาตรการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว

(2) มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงจากการให้เงินกู้ยืม การลงทุนในธุรกิจต่างๆ การลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2567 เป็นขาดทุนสุทธิอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงหากมีการลงทุนหรือทำธุรกรรมใดๆ ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบเชิงลึกทรัพย์สินสูญหายและต้องมีการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในเรื่องดังกล่าวซึ่งยังไม่แล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลพร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญ