เฉลยกลยุทธ์เทรดหุ้น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯของไทย รับมือก่อน “ทรัมป์” เก็บภาษี
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า สงครามการค้าอาจลากยาวถึงไตรมาส 2/68 โดย สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีเพิ่มเติม และอาจถูกตอบโต้จากยุโรป แคนาดา จีน เป็นแรงกดดันดีมานด์ของอุตสาหกรรมโดยภาพรวมอ่อนแอ
ขณะที่ความเสี่ยงที่ต้องระวัง ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากนโยบาย "Reciprocal Tariff" ที่จะประกาศในช่วงวันที่ 2 เม.ย. 68 เนื่องจากประเทศไทยเก็บภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าที่สหรัฐฯ เก็บจากไทย หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอาจกระทบการส่งออกไปสหรัฐฯและชะลอการย้ายฐานการผลิตจากจีนและเวียดนามมายังไทย HANA, KCE, DELTA มีสัดส่วนยอดขายไปสหรัฐฯ ในปี 2567 ที่ 25%, 23%, และ 26% ของยอดขายรวมของกลุ่มตามลำดับ
แต่ HANA มีโรงงานใน Ohio ที่มียอดขายราว 7% ของยอดขายรวมทั้งปีคาดช่วยลดผลกระทบได้บางส่วน ล่าสุดการประกาศเก็บภาษีรถยนต์ทั่วโลกจากสหรัฐฯ 25% กระทบให้Automotive Sector ชะลอตัวลง กระทบต่อ KCE โดยตรงการเก็บภาษีในเดือนเม.ย.68
หากมาตรการภาษีเก็บที่ประเทศไทยโดยตรง ผู้ประกอบการย่อมได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการจะผลักภาระไปให้ลูกค้าได้บางส่วน และผลกระทบสุทธิคาดว่าจะไม่สูง แต่ราคาหุ้นจะได้รับแรงกดดันเชิงจิตวิทยา คาดราว 10% เนื่องจากเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้อยู่ในประมาณการของตลาด
แต่ในทางตรงกันข้ามหากประเทศไทยไม่ถูกเก็บภาษี แต่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงถูกเก็บภาษี เช่น เวียดนาม จีน หรือ ไต้หวัน เป็นต้น ในกรณีนี้การย้ายฐานการผลิต หรือย้ายคำสั่งซื้อมาประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เป็นบวกต่อกลุ่มโดยเฉพาะ CCET และ DELTA ที่เน้นการเติบโตจากการย้ายคำสั่งซื้อจากบริษัทแม่ที่ไต้หวันเพื่อกระจายความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
แม้อุตสาหกรรมอาจยังไม่สดใส 6-12 เดือนและความเสี่ยงด้านภาษียังสูงแต่หากมาตรการด้านภาษีมีความชัดเจน คาดว่าอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวในครึ่งปีหลังปี 68 และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของรอบการฟื้นตัว แนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน ระยะสั้นแบ่งกรณีการลงทุนเป็น 3 กรณี
1.หากประเทศไทยไม่ถูกเก็บภาษีโดยตรง คาดว่ากลุ่มจะมีรอบ Rebound สั้นๆ เน้นไปที่ DELTA หรือ CCET ที่จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต แต่การเก็งกำไรต้องเป็นระยะสั้นเพราะมีโอกาสที่สงครามการค้าจะกลับมากดดันได้อีกครั้ง 2.หากประเทศไทยถูกเก็บภาษีคาดหุ้นทั้งกลุ่มซึมลงต่อราว 10% และ 3.หากการเก็บภาษียังไม่ชัดเจนจะเป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่มให้หุ้นแกว่งออกข้าง
ทั้งนี้ แม้ปัจจัยเสี่ยงรุมล้อม แต่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับลดลงมาพอสมควรแล้ว ประมาณการของเราและตลาดมีดาวน์ไซด์ในกรณีเลวร้าย เช่น สงครามการค้านำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงต่อเนื่อง กระทบต่อกำลังซื้อของอุตสาหกรรมทั่วโลกให้ฟื้นตัวช้า เราคาดอย่างน้อยอีก 15-20% จากประมาณการปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในระยะยาว 2-3 ปี มูลค่าของหุ้นในกลุ่มอยู่ในระดับที่เริ่มน่าสนใจ หุ้นรายตัว เช่น KCE หรือ HANA ลงมาที่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีและราคาหุ้นใกล้เคียงช่วงที่เกิด COVID-19 ใหม่ๆ ที่ต้องหยุดการผลิตบางส่วน
ดังนั้น หุ้นอาจยังอยู่ในวัฏจักรขาลงแต่กรอบการปรับลดจากระดับปัจจุบัน เชื่อว่าไม่ได้มีดาวน์ไซด์มากแล้ว ในระยะสั้น ภาวะตลาดที่อ่อนแอ การฟื้นตัวที่ยังจำกัดของอุตสาหกรรม และโอกาสถูกปรับลดประมาณการจากสงครามการค้าที่ทวีรุนแรงขึ้นจะกดดันให้หุ้นฟื้นตัวได้จำกัด
สำหรับกลยุทธ์ที่แนะนำ ได้แก่ หากหุ้นปรับลดลงแรงเพราะประเทศไทยถูกเก็บภาษีโดยตรง ให้หาจังหวะที่ตลาดตกใจทยอยสะสม และหากประเทศไทยไม่ถูกเก็บภาษี เน้นเล่น Rebound ระยะสั้นเพราะแม้ประเทศไทยไม่โดนเก็บภาษีรอบนี้ แต่ก็อาจจะถูกเก็บเพิ่มเติมในระยะถัดไปก็เป็นไปได้ และรอจังหวะสะสมรอบใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลังปี68 โดยต้องรอให้ผลกระทบของภาษีอยู่ในอุตสาหกรรมไปแล้ว