Wealth Sharing

SCB CIO มองกรณี SVB หนุน Fed ขึ้นดบ.ช้าลง แนะทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง


13 มีนาคม 2566
SCB CIO มองธนาคาร SVB ปิดกิจการ เป็นปัญหาเฉพาะตัว โอกาสยังค่อนข้างน้อยที่จะนำไปสู่วิกฤตการเงิน แต่ Fed จะพิจารณาผลการขึ้นดอกเบี้ยสะสมต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น แนะนำรอประเมินประสิทธิภาพมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูงได้ 

SCB CIO มองกรณี SVB.jpg

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า กรณีที่ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารในแคลิฟอร์เนีย  ถูกทางการสั่งปิดกิจการนั้น เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดจาก โครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว (client base concentration) อยู่ในกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup รวมทั้งมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด (asset/liability mismatching) 

ในส่วนของหนี้สิน หรือเงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น และเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เมื่อต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนของธนาคาร SVB จึงขยับขึ้นค่อนข้างเร็ว ขณะที่ฝั่งสินทรัพย์ ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ SVB ได้นำเงินฝากกว่า 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนระยะยาว เมื่อต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเหล่านี้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว  

ซึ่งหมายถึงราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผลขาดทุนที่ต้องรับรู้ค่อนข้างมาก และกระทบฐานทุน ยิ่งมีการแห่ถอนเงินฝาก ก็ทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรเหล่านี้ออกมา ธนาคารจึงขาดทุนส่วนนี้มากขึ้น จนส่งผลให้อัตราส่วนทุนของธนาคารไม่เพียงพอตามเกณฑ์ของทางการสหรัฐฯ  และถูกทางการสั่งหยุดดำเนินกิจการในที่สุด 
อย่างไรก็ตาม SCB CIO มีมุมมองว่า โอกาสที่ประเด็นปัญหาของ SVB จะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินการธนาคารทั้งระบบ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในปี 2551 ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจาก ในรอบนี้ ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตรวดเร็วแต่ฐานกระจุกตัว และมีการนำเงินฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ แต่ราคาลดลงเมื่อในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัว อย่างน้อยรายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น 

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา Fed ได้จัดตั้ง 2 เครื่องมือหลักได้แก่ Systematic Risk Exception (SRE) และ Bank Term Funding Program (BTFP) เพื่อเข้ามาจัดการเงินฝากของลูกค้าของ SVB และธนาคารที่ถูกปิดอีกแห่งคือ Signature Bank (ในส่วนที่เกินกว่า 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก) รวมถึงดูแลปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ   

ทั้ง 2 เครื่องมือ นอกจากจะจัดการกับปัญหาเงินฝากของธนาคารที่มีปัญหาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ฝากเงินทุกคนจะสามารถถอนเงินได้ หรือในกรณีธนาคารที่ถูกสั่งปิด (เช่น SVB และอีกธนาคารคือ Signature Bank  ได้เงินคืนอย่างรวดเร็ว) จะยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาแห่ถอนเงิน (Bank run) ตามมา โดยธนาคารที่เริ่มมีประเด็นสภาพคล่องแทนที่จะเอาพันธบัตรหรือ MBS หรือหลักทรัพย์อื่นๆ ออกไปขายขาดทุนในตลาด สามารถนำเอามาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมสภาพคล่องเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจะเอาเงินไปให้ผู้ฝากเงินที่ต้องการถอนเงินคืน

สำหรับ มุมมองดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้  SCB CIO เชื่อว่า Fed จะนำประเด็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในระบบการเงินแม้จะมีการอุดรอยร้าวนี้ทัน มาเป็นปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจในการประชุม FOMC 21-22 มี.ค. โดย Fed fund futures และตลาดพันธบัตร บ่งชี้ว่า ตลาดเริ่มประเมินว่า โอกาสที่ Fed จะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเริ่มมีน้อยลง ทั้งนี้ SCB CIO ยังคงมุมมอง Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อๆ ไป เราวิเคราะห์เป็น 2 กรณี คือ 

1) Base Case (โอกาส 80%) : มาตรการ SRE และ BTFP เข้ามาจัดการปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงินอย่างทันท่วงที ทำให้ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 1-2 ครั้ง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ 5.25%-5.5% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2566 

2) Worse case (โอกาส 20%) : Fed ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพระบบการเงินและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ยังห่วงเงินเฟ้อที่ลงช้า Fed อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจน Terminal rate อยู่ที่ 5.75-6% แต่ในกรณีนี้เราเชื่อว่ามีโอกาสที่ Fed อาจจะต้องลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 

กลยุทธ์การลงทุน คือ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังคงต้องติดตามว่ามาตรการ  SRE และ BTFP จะมีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องสภาพคล่องของภาคธนาคารมากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน อย่างไรก็ดี SCB CIO มองว่า จากแนวโน้มนโยบายของ Fed ที่น่าจะเริ่มเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 2 นี้ บวกกับแรงขายพันธบัตรจากสถาบันการเงินที่มีก่อนหน้าเริ่มชะลอลง หลังจาก Fed น่าจะเริ่มเข้าไปจัดการกับปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่มีปัญหา ดังนั้น เรายังเชื่อว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เป็นจังหวะที่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง