โบรกฯ คาด Q1 กลุ่มแบงก์กำไรลด เหตุรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยหาย ประเมิน NPL ยืนแตะระดับ 3.59%
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมิน กลุ่มธนาคาร คาดธนาคาร 7 แห่งกำไรสุทธิ ไตรมาส 1/68 ที่ 54.6 พันล้านบาท ลดลง0.6% จากปีก่อน จาก NIM ที่ลดลง ตาม กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2024 แต่ +6.5% จากไตรก่อน จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงจากไตรมาสก่อน หลัง high season ในไตรมาส 4/67
ขณะที่เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังเอื้ออำนวย คาด NPL ไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 3.59% ต่ำกว่า 3.61% ในไตร1/67 และค่าเฉลี่ย 3 ปีที่ 4% คงน้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารเท่ากับตลาด Top picks ยังเป็น BBL ราคาเป้าหมาย 194 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 186 บาท
สอดคล้องกับ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ประเมินว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/68 เป็นแบบผสม คาดกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน และเพิ่มขึ้นเลขหลักเดียวจากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 1/68 - เราคาดว่า 7 ธนาคารที่เราวิเคราะห์จะมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 54.4 พันล้านบาท ลดลง0.9% จากปีก่อน +6.0% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 1/68 โดยธนาคารส่วนใหญ่คาดว่าจะมีกำไรเติบโตจากไตรมาสก่อน เป็นผลจาก C/I ratio ที่ลดลงตามฤดูกาล ส่วนการลดลงจากปีก่อน มาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ลดลง
จากประมาณการของเรา มีเพียง BBL, SCB และ TTB เท่านั้นที่จะมีกำไรสุทธิเติบโตทั้งจากปีก่อน และไตรมาสก่อน โดย BBL คาดว่าจะมีการขยายตัวของกำไรจากปีก่อนแข็งแกร่งที่สุด จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ KBANK คาดว่าจะมีกำไรเติบโตจากไตรมาสก่อน สูงสุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานและ credit cost ลดลง
ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลงเป็นปัจจัยหลักที่หนุนกำไรไตรมาส 1/68 - สินเชื่อ ไตรมาส 1/68 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะเดียวกัน NIM คาดว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อน โดยหลักมาจาก Yield ที่ลดลง จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนต.ค.2024 และก.พ.2025
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน หนุนโดยธุรกิจ wealth management ที่เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) โดยรวมจะอ่อนแอลงตามภาวะตลาดทุน
อย่างไรก็ดี เราคาดว่า C/I ratio ของธนาคารจะลดลงจากไตรมาสก่อน (ตามปกติไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูง) ซึ่งช่วยหนุนผลประกอบการไตรมาส 1/68
ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ เราเชื่อว่า credit cost จะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะลดลงในบางธนาคาร ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
คงน้ำหนักการลงทุน “Overweight” โดยให้ KTB, BBL และ TTB เป็นหุ้นเด่น ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ คุณภาพสินทรัพย์ที่สามารถบริหารจัดการได้ (ซึ่งอาจนำไปสู่ credit cost ที่ลดลง) อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง (จากการบริหารทุนของธนาคาร) และ Valuation ที่ถูก (P/BV เฉลี่ยต่ำกว่า 1 เท่า)
# KTB : มีผลดำเนินงานที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับที่บริหารได้ และโอกาสเติบโตที่ดี
# BBL : คุณภาพสินทรัพย์ที่บริหารจัดการได้ มี P/BV ที่ต่า และได้อานิสงค์จากการลงทุนภาคธุรกิจ รวมถึงมีความแข็งแกร่งในสินเชื่อต่างประเทศ
# TTB : คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง และบริหารกำไรได้ดี เนื่องจากมีผลขาดทุนจากการปิด TBANK มาช่วยลดภาษี