รายงานพิเศษ : I2 ธุรกิจโดดเด่นรับกระแส การเติบโตของ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เดินหน้าประมูลงานหนุน Backlog
บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2) โดดเด่น รับกระแสธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามความเปลี่ยนแปลงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดโตเฉลี่ยปีละ 12.6%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยกำลังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายได้รวมมีทิศทางเติบโตเฉลี่ย 12.6% ต่อปี ความต้องการบริการจัดเก็บข้อมูลในไทยส่วนใหญ่ราว 94% มาจากองค์กรธุรกิจเอกชน โดยเติบโตตามความเปลี่ยนแปลงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ ทั้งเพื่อการวางแผนและการเข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะในปัจจุบันที่หลายองค์กรธุรกิจไทยเริ่มทดลอง และนำเทคโนโลยี AI มาใช้ ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่ต้องประมวลผลและจัดเก็บขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มสูงขึ้น
โดยปัจจุบัน องค์กรธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก หันมาเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอกแทนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์เอง ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและเงินลงทุนสูง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคคลากร และเทคโนโลยี
สำหรับปี 2568 คาดว่าตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์จะมีสัดส่วนสูงถึง 43.3% ของมูลค่าตลาดโดยรวม นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจยังเลือกใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากผู้ให้บริการในปัจจุบันมักเปิดให้บริการ Solution สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI ควบคู่ไปกับบริการจัดเก็บข้อมูล ทั้งนี้ ในปี 2567 องค์กรไทยกว่า 17.8% ได้นำ AI มาใช้แล้ว และอีกกว่า 73.3% มีแผนจะนำมาใช้ในอนาคต
ความสำคัญของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ สนับสนุนการเติบโตของ บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2) ประกอบธุรกิจบริการ System Integration (SI) แบบครบวงจร ได้แก่ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งนายอธิพร ลิ่มเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร I2 มั่นใจปีนี้บริษัทฯ ยังจะทำผลงานการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนมาจากภาครัฐและวิสาหกิจ ที่เดินหน้าขยายการลงทุน ซึ่งส่งผลดีกับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและด้านพลังงานที่มีการเติบโตตามเทรนด์โลก และบริษัทยังมีแผนเดินหน้าประมูลงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจอีกหลายโครงการ เพื่อสนับสนุนงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มขึ้น ผลักดันผลงานเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
ความแข็งแกร่งของบริษัทยังสะท้อนได้จากผลงานล่าสุด บริษัทฯได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการจ้างบริหารจัดการระบบจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ.2568 และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2568 จากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มูลค่าโครงการ 20 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 11เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568
โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ.2568 และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2568 ให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ให้มีระบบจัดการแข่งขันกีฬาฯ ประกอบไปด้วยระบบย่อยต่าง ๆ เช่น ระบบลงทะเบียนเข้าใช้งาน ระบบลงทะเบียนกีฬา ระบบการเดินทางเข้าและออกประเทศ ระบบจัดทำบัตรประจำตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งระบบคลาวด์และความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับระบบบริหารเกมส์การแข่งขัน
"การได้รับโครงการจ้างบริหารจัดการระบบจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ของ กกท. ในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทฯ ถือได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดการแข่งขันกีฬาฯระดับอาเซียน อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของหน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจที่มีต่อศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ และช่วยผลักดันให้งานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) จากเดิม 809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 829 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า
อีกทั้งการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Green SEA Games" และ "Sustainable Paralympics" ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในการจัดแข่งขันและกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาภาวะโลกร้อน โดยการแข่งขันกีฬาซีเกมส์จะจัดขึ้นในวันที่ 9 - 20 ธันวาคม 2568 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ในวันที่ วันที่ 20 - 26 มกราคม 2569" นายอธิพร กล่าว