"ทรัมป์" เล่น Chicken Game ขึ้นภาษี หุ้นไทยร่วง 3 ปีติด! เสี่ยงหลุด 1,000 จุด
Mr.Data
ทะลุองศาเดือด! เดือนเม.ย.ที่ว่าร้อน คงไม่มีอะไรร้อนไปกว่า การที่ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์"ของสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ ชุดใหญ่เมื่อ 2 เม.ย. ซึ่งอาจทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริง (Effective Tariff Rate) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 18 – 22% โดยไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนี้สูงถึง 36% เป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย
ซึ่งไทยโดนขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ขึ้นกับทั่วโลก (16%) ค่าเฉลี่ยของประเทศเอเชีย (21%) เป็นผลจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทยสูง
ขณะที่รัฐบาลไทยพร้อมส่งคณะทำงานเข้าเจรจากับตัวแทนสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบ
...ส่วนพญามังกรจีน ประกาศกร้าวพร้อมทำสงครามการค้า (Trade War) สหรัฐแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ตอบโตด้วยการการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ 84% จนลุกลามบานปลาย "ทรัมป์" เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น 104%
"โดนัลด์ ทรัมป์"ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังเล่นเกมต่อรอง Chicken Game หรือตีหัวเข้าบ้าน เพื่อให้ประเทศคู่ค้าสหรัฐ ต้องเข้ามาเจรจาลดภาษีให้กับสหรัฐ เพื่อลดการขาดดุลการค้า ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ แต่จีนไม่เล่นด้วย
...ต้นสัปดาห์ ตลาดหุ้นไทยทั่วโลกโกลาหล ดิ่งหนัก Black Monday จนตลาดหุ้นญี่ปั่น และไต้หวัน ทรุดหนัก ถึงขั้นต้องงัดมาตรการ Circuit Breaker ออกมาใช้
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในวันจันทร์หยุดทำการ เนื่องจากวันจักรี และที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ออก 3 มาตรการเพื่อรับมือ หลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ประกอบด้วย
-
ปรับ Ceiling & Floor สำหรับทั้ง SET, mai และ TFEX
-
ปรับกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ จากเดิม ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น เป็น ±5% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น
-
ห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยกเว้น Market Maker สำหรับ SET, mai และ TFEX ระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย.68 รับมือตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่ง
...ตามคาดหลังตลาดหุ้นไทยเปิดทำการในวันที่ 8 เม.ย.68 นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นไทยออกมาเพื่อลดความเสี่ยง โดยลดลงต่ำสุดที่ 1,056.41 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 50.62 จุด หรือ 4.50% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,960 ล้านบาท
บล.กสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ โดยได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย ( SET Index) สิ้นปี 2568 ลงเหลือ 1,145 จุด บนคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)ใหม่ที่ 88 บาทต่อหุ้น จากเดิม 91.4 บาท บนสมมติฐานราคาปิดต่อกำไร (พี/อี เรโช) ที่ระดับ 13 เท่า แต่หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก พี/อี หุ้นไทยอาจลดเหลือ 11.5 เท่า ซึ่งจะทำให้ SET Index มีโอกาสปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 960 จุด
โดยคาดว่าการส่งออกไทยปี 2568 อาจหดตัว -0.5 % ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี เหลือ 1.4 % และนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมในปีนี้ลงมาอยู่ที่ +/- 1.50 %
แม้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีจากไทยไปยังสหรัฐฯที่อัตรา 36 % แต่คาดว่าสุดท้ายหลังเจรจาภาษีโดยรวมจะอยู่ที่ราว 25 % เนื่องจากไม่ใช่สินค้าทุกประเภทที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเต็มจำนวนที่ 36 %
“การปรับลดเป้าหุ้นไทย เพื่อสะท้อนคาดการณ์การปรับลดประมาณการกำไรของหลายๆกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร ธนาคาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน และอื่นๆ “
บล.กสิกรไทย ปรับลดประมาณการ EPS กลุ่มอุตสาหกรรมหลักดังต่อไปนี้
กลุ่มเกษตรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : ทั้ง 2 กลุ่มถูกปรับประมาณการณ์ลงกลุ่มละ 0.025 บาท เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีที่ 25 %
กลุ่มธนาคาร : ถูกปรับลดประมาณการณ์ลง 1.50 บาท จากคาดการณ์ที่ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
กลุ่มพลังงาน : ถูกปรับลดประมาณการณ์ลง 1.00 บาท จากการปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบลงจาก 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล เหลือ 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล
กลุ่มอื่น ๆ : ถูกปรับลดประมาณการณ์ลง 0.50 บาท จากผลกระทบจากอัตราภาษี
ส่วนบล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2568 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (policy panic)
ขณะเดียวกันยังคาดว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุม กนง. ช่วงกลางปี อาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (yield curve steepening) และหนุนดัชนี SET ได้ แต่จนกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะชัดเจน แนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นปลอดภัย ได้แก่ โรงพยาบาล (BCH, PR9, BDMS, BH) ซึ่งมีการเติบโตที่แข็งแกร่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอกลุ่มโทรคมนาคม (TRUE, ADVANC) ที่ได้รับประโยชน์จากปัจจัยสนับสนุนของการควบรวมในอุตสาหกรรมกลุ่มธนาคาร (KBANK, SCB) ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลและการบริหารเงินทุนที่ดี
อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 เม.ย.2568 จะเป็นวันสำคัญสำหรับการประชุม กนง. ซึ่งอาจมีนโยบายเร่งด่วนออกมา หากเกิดขึ้นจริง อาจเกิดแรงหมุนเวียนจากหุ้นปลอดภัยไปสู่หุ้นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับประโยชน์ เช่นหุ้นที่มีภาระหนี้สูง (AWC, ERW, IRPC, GPSC) ซึ่งจะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรกกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก อุตสาหกรรมที่อิงกับการบริโภค (รวมถึงสื่อ) สินเชื่อนอกระบบ และอสังหาริมทรัพย์
ด้าน บล.บัวหลวง ประเมินว่า ระยะสั้นตลาดหุ้นไทยมีเด้ง แล้วเสี่ยงลงต่อ แต่เปอร์เซนต์การติดลบ 1-2 วันนี้น่าจะเริ่มน้อยลง ทั้งนี้การลงจนสุดคาดมีโอกาสหลุด 1,000 จุด ซึ่งอาจไม่ได้เกิดในเร็ววันนี้ และในระยะสั้น 1-2 วัน อาจมีรีบาวด์บ้างให้ นักเก็งกำไรได้ ขายหุ้นออกของ
“คาดปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและหุ้นไทย หนีไม่พ้นภาษีที่อเมริกาเรียกเก็บรอบนี้ ชัดเจนว่าต้องการบีบ จีน และประเทศที่รับผลิตให้จีนเพื่อส่งออกต่อ ยกตัวอย่างเวียดนามขอเจรจาเร็วแต่ กลับไม่ได้รับคำตอบที่ดีจากอเมริกา”
ดังนั้นการเจรจาคงไม่จบเร็วแน่ๆ แต่เอกชนต้องขยับตัวเพื่อเลี่ยงปัญหา เช่น สินค้า APPLE หันไปผลิตและประกอบในอินเดียเพิ่มแทนจีน เป็นต้น ทำให้ผลกระทบจากเศรษฐกิจอาจถูกโยกออกจาก ราคาหุ้น บจ.บางตัวที่ เอกชนแก้ปัญหากันเองได้บางส่วน (ตั้งโรงงานในอเมริกา มาก่อนหน้านี้แล้ว)
อย่างไรก็ตาม หลัง “ทรัมป์”กลับลำแผนภาษีตอบโต้ แต่ยังเก็บขั้นต่ำ 10% เป็นเวลา 90 วัน เปิดทางเจรจาคู่ค้า แต่ยังคงเดินหน้าเพิ่มภาษีจีนสูงถึง 125% ทำให้ตลาดหุ้นไทยวันที่ 10 เม.ย.68 กลับมายืนเหนือ 1,100 จุด โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,138.34 จุด +50.16 จุด
...ใครจะไปรู้ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ จะออกหมู่หรือจ่า! พญาอินทรียังคงบดขยี้พญามังกร เพื่อส่งสัญญาณความเป็นผู้นำโลก แต่ดูเหมือนว่าพญามังกร พร้อมย้อนศรกลับ Trade War ยังอีกยาวไกล ถ้าพี่เบิ้มยังไม่ยอมหย่าศึก หญ้าแพรกคงแหลกราญ