Talk of The Town

TTB แจงงบไตรมาส 1/68 มีกำไรสุทธิ 5.09 พันลบ. ลดลง 5.2% เหตุรายได้ดอกเบี้ย - NIM หดตัว


18 เมษายน 2568

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 5,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการควบคุมต้นทุนทางการเงินที่ดีการบริหารต้นทุนในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและการลดต้นทุนด้านความเสี่ยง แต่ลดลง 5.2% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

TTB แจงงบไตรมาส_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

สำหรับไตรมาส 1/68 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 13,219 ล้านบาท ลดลง 4.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การลดลงส่วนใหญ่เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่ลดลงหลังจากการปรับลดของดอกเบี้ยนโยบายและกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี การบริหารต้นทุนทางการเงินที่ดีช่วยลดผลกระทบดังกล่าว ในด้านของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจากทั้งต้นทุนเงินฝากและต้นทุนของเงินกู้ยืม ตามดอกเบี้ยที่ปรับตัวลงและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ด้านเงินฝากและการบริหารจัดการหนี้สินและเงินกู้ยืม

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 8.2% ตามแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายขาลงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงความต้องการในตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัว ในขณะที่ผลตอบแทนจากเงินลงทุนปรับตัวดีขึ้นจากการบริหารจัดการพอร์ตเงินลงทุนเชิงรุก

ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 3.19% ในไตรมาส 1/68 ลดลงจาก 3.25% ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลง จาก 3.28% ในไตรมาส 1/67 เป็นตามที่ธนาคารคาดไว้ว่า NIM จะอยู่ในระดับสูงสุดในปี 2567 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงตามวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในปีนี้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed-rate loan) ประกอบกับแนวทางการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปสู่สินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนสินเชื่อจากการปรับลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเร็วกว่าคาด

ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงควบคุมต้นทุนทางการเงินได้ดีเป็นผลจากระดับเงินฝากที่ลดลงตามแผนบริหารสินทรัพย์และหนี้สินเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตด้านสินเชื่อ รวมไปถึงบริหารจัดการพอร์ตหนี้สินและเงินกู้ยืมอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การลดลงจากช่วงเดียวกัน สาเหตุหลักมาจากสภาวะดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 1/67 ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่า จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสินเชื่ออยู่ในระดับที่สูงกว่าในไตรมาสนี้ด้านต้นทุนทางการเงินยังคงเป็นปัจจัยที่ธนาคารควบคุมได้ดีและลดลง นอกจากนี้ด้วยการบริหารจัดการพอร์เงินลงทุนเชิงรุกในช่วงที่อัตราผลตอบแทนในตลาดมีความผันผวน ส่งผลให้ผลตอบแทนจากพอร์ตเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้น

TTB